bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๙ ม.ค.๖๒ : ปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลีย

ปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลีย โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. มีรายงานว่า นักศึกษาจีนได้เลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบัน มีนักศึกษาชาวจีนไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นจำนวนรวมกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ที่มีนักศึกษาจีนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศออสเตรเลีย เพียง ๘๕,๑๑๑ คน

๒. การศึกษาต่อต่างประเทศเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกอันดับสามของประเทศออสเตรเลีย โดยในปีงบประมาณล่าสุด ได้มีส่วนร่วมในการอัดฉีดเศรษฐกิจของออสเตรเลีย เป็นจำนวนถึง ๓,๑๙๐ ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (๗๒,๒๓๙ ล้านบาท) ซึ่งในฐานข้อมูลยังได้ระบุว่า เมื่อเดือน ต.ค. ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ออสเตรเลียมีนักศึกษาต่างชาติประมาณ ๘๓๙,๘๐๐ คน เพิ่มขึ้น ๑๑% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจากประเทศจีนมากที่สุด ประมาณ ๓๙% ของนักศึกษาต่างชาติในออสเตรเลีย

๓. ข้อสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลีย
        ๓.๑ ปัจจัยด้านการศึกษา ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกอันดับสามของประเทศออสเตรเลีย และได้ส่งผลต่อการอัดฉีดเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ทั้งนี้ เนื่องจากจีนกับออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือแบบธรรมชาติ โดยจีนมีตลาดบริโภคขนาดใหญ่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนออสเตรเลียก็มีทรัพยากรแร่อันอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพสูง มีสถาบันการศึกษาที่ดี และทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลาย เป็นต้น
        ๓.๒ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ยอดการส่งออกจากออสเตรเลียสู่จีนคิดเป็น ๓๐% ขึ้นไปของยอดการส่งออกทั้งหมด ซึ่งจีนให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์กับออสเตรเลียมาโดยตลอด และได้ชื่นชมท่าทีทางบวกของออสเตรเลีย โดยเฉพาะการที่นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย ได้พบปะกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นการพบปะในจุดเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในการกลับสู่หนทางการพัฒนาที่เป็นปกติ โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้แสดงท่าทียอมรับต่อการพัฒนาของจีน ว่าเป็นหนึ่งในผลสำเร็จที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยินดีที่จีนแสดงบทบาทเชิงบวกในปัญหาทั่วโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะความเจริญรุ่งเรืองของจีนได้นำผลประโยชน์มาให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียด้วย

บทสรุป

ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียเห็นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับจีนในการผลักดันความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การกระชับความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว พลังงาน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งยินดีให้นักธุรกิจจีนมาลงทุนในออสเตรเลีย และส่งเสริมความร่วมมือกับจีนเพื่อรับมือกับปัญหาที่ท้าทาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นต้น ทำให้รัฐบาลจีนเห็นเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการลงทุนและการค้ากับออสเตรเลีย โดยจีนยินดีนำเข้าผลิตภัณฑ์คุณภาพดีของออสเตรเลีย รวมทั้งการสร้างบรรยากาศการประกอบธุรกิจแบบสากลตามกฎหมายสำหรับวิสาหกิจทั้งจีนและต่างประเทศอย่างเสมอภาค นอกจากนี้ ยังทำให้นักลงทุนของทั้งสองประเทศมีความมั่นใจ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการสนับสนุนแนวคิดพหุภาคีและการค้าเสรี เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/20190107/d691d5d4-76a5-f7e5-9d38-f6ba570eb5dd.html 

http://thai.cri.cn/20181117/adc45651-972c-3df1-2f48-b352fcb05c55.html 

http://thai.cri.cn/20181114/f9cbff3b-8942-dcd0-c818-e09f513d2f86.html 

https://blog.sinorbis.com/blog/the-chinese-student