bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๔ ม.ค.๖๒ : กรณียานสำรวจ “ฉางเอ๋อ - ๔” (Chang’e 4) ของจีน

กรณียานสำรวจ “ฉางเอ๋อ - ๔” (Chang’e 4) ของจีนประสบความสำเร็จในการลงจอดที่ส่วนด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๓ ม.ค.๖๒ เวลา ๑๐.๒๖ น. ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ - ๔” ของจีน ได้ประสบความสำเร็จในการลงจอดที่ส่วนด้านมืดของดวงจันทร์ บริเวณลองจิจูด ๑๗๗.๖ องศาตะวันออก ละติจูด ๔๕.๕ องศาใต้ และส่งภาพถ่ายด้านมืดของดวงจันทร์ในระยะใกล้ภาพแรกผ่านดาวเทียมสื่อสาร "เชวี่ยเฉียว" (Queqiao) กลับมายังพื้นโลก

๒. ภาพถ่ายด้านมืดของดวงจันทร์ดังกล่าว นับเป็นการเปิดเผยโฉมหน้าด้านมืดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ ได้บรรลุซึ่งการลงจอดแบบซอฟต์แลนดิ้งของยานสำรวจที่มนุษย์สร้างขึ้นในบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และเป็นการส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมสื่อสารระหว่างบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์กับโลกเป็นครั้งแรก เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งการบุกเบิกค้นคว้าดวงจันทร์ของมนุษยชาติ

๓. ลำดับขั้นตอนสู่ความสำเร็จของยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ - ๔” จนทำการแลนดิ้งในพื้นที่บริเวณด้านหลังของดวงจันทร์ตามระยะเวลาที่กำหนด
        ๓.๑ เริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ ๘ ธ.ค.๖๑ เวลา ๐๒.๒๓ น.ตามเวลาปักกิ่ง ศูนย์ปล่อยจรวจส่งดาวเทียมซีชาง(Xichang ) มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีน ได้ปล่อยจรวดขนส่ง “ฉางเจิง – ๓” ที่มีการบรรทุกยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ – ๔” ด้วยความสำเร็จ ถือเป็นการเริ่มต้นปฏิบัติการณ์สำรวจดวงจันทร์รอบใหม่
        ๓.๒ ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ – ๔” ได้บินเข้าสู่ดวงจันทร์ตามเส้นทางที่ประหยัดพลังงานที่สุด และประสบความสำเร็จในปรับเปลี่ยนวงโคจรและเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อวันที่ ๑๒ ธ.ค.๖๑ เป็นต้นมา โดยได้ทำการปรับวงโคจรรอบดวงจันทร์ ๒ ครั้ง และทำการทดสอบ TrunkLink ๔ ครั้งกับ “เช่ว์เฉียว” (Magpie Bridge) ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารระหว่างดาวเทียม (Tracking and Data Relay Satellite System) เพื่อดำเนินการทดสอบในวงโคจรหลายรายการ เช่น ความละเอียดอ่อนด้านการนำร่อง ทั้งการวัดระยะด้วยระบบเลเซอร์ (laser distance measuring) การจับภาพสามมิติ และการวัดระยะและการวัดความเร็วด้วยคลื่นไมโครเวฟ (microwave distance measurement) เป็นต้น

บทสรุป

จีนเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งยานสำรวจภาคพื้นลงสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ จากความสำเร็จของยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ – ๔” ซึ่งนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของศูนย์ยิงดาวเทียมซีชาง ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. ปี ๑๙๗๐ (พ.ศ.๒๕๑๓) โดยตั้งอยู่ห่างจากเมืองซีชาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ซึ่งได้ยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรต่างๆ การทดลองจรวดขนส่ง และการบริหารยานอวกาศในระยะยาว ทั้งนี้ จีนได้วางแผนจะปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรกในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) นับเป็นอีกก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีการพัฒนาอวกาศของจีนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.planetary.org/blogs/jason-davis/change4-success.html 

http://thai.cri.cn/20190103/beb6738d-663f-a0f9-8ee3-ff427e0a13f3.html 

http://thai.cri.cn/20181230/dda62620-adba-2839-7728-1f9dab57be17.html

http://thai.cri.cn/20181208/7cbfd5c0-cfa7-6b5d-4a2b-8453471ed2e6.html 

https://www.it24hrs.com/2019/chang-e-4-china-lunar-rover-landed-moon/ 

http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3602-chang-e-4-moon