bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ม.ค.๖๒ : ยุทธศาสตร์ของจีนในการทำสงครามขจัดมลพิษทางอากาศ

ยุทธศาสตร์ของจีนในการทำสงครามขจัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. รัฐบาลจีนได้ทำสงครามขจัดมลพิษอากาศอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลดลง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเมื่อปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) และจากการติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หลังจากที่จีนระดมมาตรการมากมายเพื่อกำจัดมลพิษอากาศ จนประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง ได้ช่วยยืดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน เพิ่มอีก ๖ เดือน และอายุขัยของชาวจีนจะยืดยาวไปอีก ๓ ปี หากสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศไปถึงมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ระบุว่าประชากรในโลกถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น ๕.๕ ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่มีฝุ่นมลพิษสูงเกินขีดความปลอดภัย โดย WHO กำหนดขีดมาตรฐานความปลอดภัย ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ควรเกิน ๑๐ ไมโครกรัม/คิวบิกเมตร

๒. ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาของจีน
        ๒.๑ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ โดยในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) กลุ่มเมืองที่มีคุณภาพอากาศตกต่ำ จะลดความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งเป็นดัชนีวัดมลพิษอากาศ ลง ๑๘ เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงเมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ขณะที่ผู้อาศัยในพื้นที่หน่วยการปกครองระดับเมือง/จังหวัด หรือสูงกว่านั้น จะมีวันที่อากาศดีๆ คิดเป็นสัดส่วน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนการแพร่กระจายซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ไนโตรเจนออกไซด์ จะลดลงอย่างน้อย ๑๕ เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงเมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘)
        ๒.๒ พิจารณาแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจน โดยการสำรวจหาแหล่งกำเนิดของมลพิษเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งเมื่อปลายเดือน มี.ค.๖๑ กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน (Ministry of Ecology and Environment: MEE) ได้อยู่ระหว่างการทำสำมะโนสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ครั้งที่ ๒ เพื่อระบุและหาแหล่งที่มาของมลพิษ (pollution source) และกำหนดแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) รวมทั้งพิจารณาปรับโครงสร้างของหน่วยงานรับผิดชอบ ให้มีการขยายอำนาจการทำงานและการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ยาวถึง ๑๐ ปี เพื่อรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน และลงลึกเพียงกระทรวงเดียว ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ได้ถูกกระจายหน้าที่ให้หลายกระทรวง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
        ๒.๓ การใช้เครื่องมือในการดำเนินการอย่างบูรณาการ โดยยกกรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงปักกิ่ง ที่มีการประกาศนโยบายควบคุมมลพิษตามมาตรฐานซึ่งรัฐบาลกำหนด ได้แก่ การโอนย้ายหรือสั่งปิดบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษ และการกระจายสาขาธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของเมืองหลวง เช่น ตลาดขายส่งเสื้อผ้าและตลาดขายส่งผักและผลไม้ ไปยังมณฑลข้างเคียง เป็นต้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้กรุงปักกิ่งสามารถลดความเข้มข้นของ PM 2.5 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยการเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา ๑๒ หยวนต่อหน่วยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ ซึ่งรองรับต่อกฎหมายว่าด้วยภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน ที่ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๖๑

บทสรุป

ยุทธศาสตร์ของจีนในการทำสงครามขจัดมลพิษทางอากาศดังกล่าว สอดรับกับการที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เน้นกลไกในการบุกเบิกหนทางใหม่ต่อระบบนิเวศและการพัฒนาสีเขียว โดยได้จัดให้มีการประชุมอนุรักษ์ระบบนิเวศแห่งชาติจีนขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๑๘ – ๑๙ พ.ค.๖๑ ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นทิศทางการผลักดันงานสร้างสรรค์อารยธรรมทางระบบนิเวศในศักราชใหม่ของจีน อันเป็นภาพรวมทางยุทธศาสตร์ที่ได้นำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย แนวทางการดำเนินการและเครื่องมือที่ใช้อย่างบูรณาการ โดยเฉพาะการทำสำมะโนสิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ถูกกระจายหน้าที่ให้หลายกระทรวง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงมีการปรับโครงสร้างขยายอำนาจการทำงานและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ยาวถึง ๑๐ ปี เพื่อรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน และลงลึกเพียงกระทรวงเดียว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://sgtalk.org/mybb/Thread-NUS-Economists-China-air-pollution-affects-worker-productivity-in-China-severely

https://mgronline.com/china/detail/9620000005564 

http://thai.cri.cn/20181231/c20fa2ca-b071-d5c7-2021-6d67b1bd7f9a-2.html

https://www.thaibizchina.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2/

http://www.vijaichina.com/articles/1030 

https://www.travelchinaguide.com/climate/air-pollution.htm