bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๙ พ.ย.๖๑ : ข้อคิดจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ข้อคิดจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเอเปค หรือการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ครั้งที่ ๒๖ เมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย.๖๑ ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) เมืองหลวงของประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในภาพรวมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้กล่าวถึง
        ๑.๑ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกควรตอบรับสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ยืนหยัดหลักการผลักดันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงการสร้างสรรค์เศรษฐกิจโลกให้เป็นแบบเปิดกว้าง
        ๑.๒ ใช้ความพยายามเพื่อรักษาแนวโน้มความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้มั่นคง ยกระดับความร่วมมือ โดยจีนจะเข้าร่วมกระบวนการความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้มากขึ้น เพิ่มการลงทุน และจะดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มมากยิ่งขึ้นกับฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างคุณูปการใหม่ต่อการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิก

๒. ข้อเสนอ ๔ ประการ ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อรองรับต่อแนวทางในการประชุมครั้งนี้ ที่ได้ตั้งประเด็นไว้ว่า “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล” ซึ่งประกอบด้วย
        ๒.๑ ยืนหยัดผลักดันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกให้เปิดกว้าง
        ๒.๒ ยืนหยัดการขับเคลื่อนนวัตกรรม พัฒนาพลังขับเคลื่อนใหม่ของการเติบโต
        ๒.๓ ยืนหยัดพัฒนาเครือข่ายการติดต่อและการเชื่อมโยงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
        ๒.๔ ยืนหยัดพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการท้าทายต่าง ๆ ร่วมกัน

๓. สำหรับแนวทางในการผลักดันข้อเสนอดังกล่าว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นว่า
        ๓.๑ การติดต่อและการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานของการบรรลุการพัฒนาที่ครอบคลุมและเกื้อหนุนกัน ฝ่ายต่าง ๆ จึงควรจัดวางพิมพ์เขียวการติดต่อและการเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรมและให้ลึกซึ้ง โดยยึดถือวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เป็นการชี้นำ ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมมาก เพื่อให้การพัฒนาสมดุล เติบโตอย่างยั่งยืน มีความเสมอภาค และให้สังคมได้มีส่วนร่วม
       ๓.๒ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้น การเกิดความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องยืนหยัดหลักการพัฒนาร่วมกัน ส่งเสริมเจตนารมณ์หุ้นส่วน จัดการความขัดแย้งผ่านการปรึกษาหารือกัน หาวิธีแก้ไข และรับมือกับปัญหาที่ท้าทายร่วมกัน ฝ่ายต่าง ๆ ควรถือสภาพความเป็นจริงที่มีความหลากหลายเป็นที่ตั้ง เคารพหนทางการพัฒนาของกันและกัน บนพื้นฐานที่เปิดกว้างและครอบคลุมในทุกด้าน ไปมาหาสู่กันอย่างกลมกลืน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้จะแข่งขันแต่ก็ต้อง อำนวยประโยชน์แก่กันและร่วมมือกัน เพื่อสร้างชุมนุมที่มีอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
        ๓.๓ จีนยืนหยัดดำเนินการปฏิรูปให้ลึกซึ้งและรอบด้านอย่างเด็ดเดี่ยว เร่งสร้างระบบเศรษฐกิจการตลาดของสังคมนิยมให้สมบูรณ์ และเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย โดยจีนจะเปิดกว้างการเข้าถึงตลาดให้มากยิ่งขึ้น จะคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างบรรยากาศการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น และเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนงานมหกรรมนำเข้านานาชาติครั้งแรกของจีน ที่จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีบทพิสูจน์ให้เห็นว่า จีนสนับสนุนการค้าเสรีและเปิดกว้าง ความมุ่งมั่นของจีนที่จะเปิดตลาดสู่โลกนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน โดยจีนกำลังพัฒนาโครงการ “จีนดิจิทัล” โครงการ “อินเทอร์เน็ต +” โครงการปัญญาประดิษฐ์ และโครงการนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจีนยินดีดำเนินความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับฝ่ายต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์การเติบโตทางเศรษฐกิจ เสริมพลังขับเคลื่อนใหม่ต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก
       ๓.๔ จีนเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้ปฏิบัติ ในเรื่องความร่วมมือแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้การพัฒนาของจีนขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับฝ่ายต่าง ๆ ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งบรรดาผู้นำประเทศเอเชีย-แปซิฟิกควรจัดวางพิมพ์เขียวความร่วมมือหลังปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ของเอเปคให้ดี โดยใช้ความพยายามเพื่อรักษาแนวโน้มความร่วมมือของเอเชีย-แปซิฟิกให้มั่นคง เพื่อให้ความร่วมมือนี้ยกระดับ และเน้นย้ำว่า จีนจะสร้างคุณูปการใหม่เพื่อการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

บทสรุป

ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนไม่เพียงแต่จะมีแนวความคิดและข้อเสนอในด้านการผลักดันการพัฒนาของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเน้นถึงการปฏิบัติด้วย โดยในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ยอดการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกเอเปคคิดเป็น ๖๒% ของยอดการค้าทั้งหมดของจีน และยอดการลงทุนโดยตรงของจีนในประเทศสมาชิกเอเปคคิดเป็น ๗๒% ของยอดการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการเชื่อมโยงติดต่อกัน ซึ่งจีนเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในการผลักดันการพัฒนาและความร่วมมือของเอเปค โดยเฉพาะการร่วมกันสร้างสรรค์โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นใหม่ให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของความร่วมมือเอเปค และมีความหมายที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากในภาพรวมเศรษฐกิจของโลก เอเชีย-แปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีชีวิตชีวาด้านการเติบโตมากที่สุด และมีศักยภาพการพัฒนามากที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ประชากรของ ๒๑ ประเทศสมาชิกในเอเปคคิดเป็น ๔๐% ของประชากรทั้งหมดของโลก และมียอด GDP เป็นประมาณ ๖๐% ของโลก ในขณะที่มียอดการค้าเป็นประมาณ ๔๗% ของโลก

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-11/17/c_137613904.htm 

http://thai.cri.cn/20181118/f815fb92-7bcd-bcd3-64b8-1f9039db621d.html 

http://thai.cri.cn/20181117/997ff986-e0b2-4694-96aa-b110cb54fd8e.html 

http://www.chinadaily.com.cn/a/201811/17/WS5bef743da310eff303289434.html