bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๓ ธ.ค.๖๑ : การพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนกับผู้นำรัสเซียและอินเดีย

การพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนกับผู้นำรัสเซียและอินเดีย เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๖๑ โดยจะมีผลกระทบต่อทิศทางในการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การเข้าร่วมการพบปะอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้นำจีน รัสเซีย และอินเดีย ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รวมทั้ง นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความร่วมมือระหว่างสามประเทศภายใต้สถานการณ์ใหม่ ทั้งนี้ ผู้นำสามประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า จะส่งเสริมการประสานงาน และความร่วมมือในเรื่องที่มีความเห็นพ้องต้องกัน ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาของโลก กล่าวคือ
        ๑.๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นว่า จีน รัสเซีย และอินเดีย ล้วนเป็นประเทศใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของโลก และต่างเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญต่อกัน ทั้ง ๓ ประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันกว้างขวาง และเป้าหมายการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน มีความรับผิดชอบสำคัญต่ออนาคตของทั้งภูมิภาคและของโลก ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน การพัฒนาร่วมกันและความร่วมมือที่ใกล้ชิดของ ๓ ประเทศ ถือเป็นกำลังที่มั่นคงและแน่นอน ที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั่วโลก
        ๑.๒ นายวลาดิมีร์ ปูติน เน้นว่า ทั้ง ๓ ประเทศต่างเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน รวมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีบนพื้นฐานที่เสมอภาคและให้ความเคารพต่อกัน
        ๑.๓ นายนเรนทรา โมดี กล่าวว่า สามประเทศเป็นประเทศสำคัญของโลก มีภาระหน้าที่ร่วมกันในการคุ้มครองลัทธิพหุภาคี และรักษาระบบพหุภาคี

๒. ข้อสังเกต
        ๒.๑ ในวันเดียวกันนั้น (วันที่ ๓๐ พ.ย.๖๑) ได้มีการพบปะอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำประเทศกลุ่มบริคส์ หรือ BRICS (ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีส อินเดีย จีน และแอฟริการใต้) ซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา โดยมีนายมิเชล เตเมร์ ประธานาธิบดีบราซิล นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เข้าร่วมการพบปะ และร่วมการแถลงข่าวภายหลังการพบปะ โดยได้มีการประกาศจุดยืนร่วมกันของประเทศกลุ่มบริคส์เกี่ยวกับการปฏิรูปองค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งประเทศกลุ่มบริคส์เห็นได้พ้องร่วมกันว่า (๑) จะต้องสนับสนุนกลไกการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นตัวแทน และถือกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเป็นหลักประกันทางการค้าระหว่างประเทศที่โปร่งใส ไม่มีการดูหมิ่น เปิดเผย และเปิดกว้าง (๒) ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่าง ๆ ยังต้องมุ่งเน้นทุ่มเทกำลังในการรักษาสันติภาพ และเสถียรภาพของโลก สนับสนุนให้สหประชาชาติแสดงบทบาทแกนนำ ร่วมกันเสริมสร้างลัทธิพหุภาคี ส่งเสริม และรักษาระเบียบสากลที่เที่ยงธรรม ยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย และ (๓) มีความเป็นตัวแทนมากยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) และ “สนธิสัญญาปารีส” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
        ๒.๒ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ก.ย.๖๑ คณะกรรมการสหภาพยุโรป ได้ประกาศข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กฎระเบียบของ WTO สอดคล้องกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบในระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และคณะกรรมการสหภาพยุโรปได้ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า สหภาพยุโรปเป็นผู้สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ข้อเสนอด้านการปฏิรูปดังกล่าวได้กล่าวถึง ๓ ขอบข่ายสำคัญ ได้แก่ (๑) การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน (๒) ส่งเสริมบทบาทการดูแลจัดการขององค์การการค้าโลก และ (๓) ขจัดสภาวะชะงักงันของกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งขององค์การการค้าโลก แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในอีกหลายสัปดาห์ ที่สหภาพยุโรปจะพิจารณาจัดทำแผนงานที่ละเอียดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นก็ตาม

บทสรุป

การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำจีน รัสเซีย และอินเดีย เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย.๖๑ รวมทั้งการพบปะอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำประเทศกลุ่มบริคส์ (BRICS) ที่ผ่านมา ย่อมมีผลกระทบต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงครั้งใหญ่ ในขณะที่ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น การการพบปะหารือกันดังกล่าวของผู้นำ ในฐานะที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่จะมีผลกระทบถึงทั่วโลก และเป็นประเทศตลาดใหม่ โดยต่างเห็นพ้องกันว่า ควรต้องตระหนักถึงภาระหน้าที่ระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้นำจีนได้แสดงท่าทีที่ยินดีในการเพิ่มการประสานงานทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งการแสดงบทบาทเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของโลกและภูมิภาค

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201812/01/WS5c01df6fa310eff30328c2f4.html

http://thai.cri.cn/20181201/d12a8d67-4ee6-a499-8658-a2d1c31c4487.html 

http://thai.cri.cn/20181201/cd6a9846-a8a3-c9e4-5a28-34edb62a4491.html 

http://thai.cri.cn/20180919/6aeccc61-c87a-4c2f-a3b6-83c9122624f3.html

https://gbtimes.com/xi-jinping-holds-talks-modi-putin 

https://www.livemint.com/Politics/zPdB5h9iQc4tqIxnSPol4K/G20-summit-India-Russia-China-hold-trilateral-after-12-ye.html 

http://morungexpress.com/xi-putin-modi-agree-to-increase-trilateral-cooperation/