bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๐ ต.ค.๖๑ : นัยสำคัญของวันที่ ๘ ต.ค.๖๑ ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสถาปนาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน

นัยสำคัญของวันที่ ๘ ต.ค.๖๑ ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสถาปนาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียนครบ ๑๕ ปี โดยผู้นำจีนและประเทศอาเซียนร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพและเจริญรุ่งเรืองระหว่างจีนกับอาเซียนที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศหุ้นส่วนประเทศแรกที่สร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับอาเซียน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ภาพโดยรวมของความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซีย จากคำชี้แจงในเอกสารสมุดปกขาวของ The State Council Information Office of the People’s Republic of China เรื่อง “China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation” (January 2017) ที่ทางการจีนได้แจกจ่ายเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของจีนในกลไกหลักเพื่อความร่วมมือแบบพหุภาคีของภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน

๒. กรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีของภูมิภาคระหว่างจีนกับอาเซียนที่สำคัญประกอบด้วย
        ๒.๑ กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน ซึ่งจีนคำนึงถึงอาเซียนเป็นเพื่อนบ้านในลำดับแรก และสนับสนุนการรวมตัวกันของอาเซียนเป็นประชาคมเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งนี้ ด้วยหลักการพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และมีความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้จีนและอาเซียนมีความแข็งแกร่งในการเจรจาหารือทางยุทธศาสตร์ ที่จะส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันทางการเมือง มีความร่วมมือเชิงลึกทั้งในทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการค้า ด้านการเชื่อมโยง ด้านการลงทุน ด้านความมั่นคง ด้านกิจการทางทะเล ด้านวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนสู่ประชาชน ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ผู้นำจีนได้ตอกย้ำถึงความใกล้ชิดของจีนกับประชาคมอาเซียน ด้วยการร่วมเป็นหุ้นส่วนในอนาคต โดยในปี ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) อันเป็นปีครบรอบ ๒๕ ปีของความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งนอกเหนือจากการที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้ไปร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างจีนกับอาเซียนที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อกระชับความร่วมมือในการกำหนดทิศทางในอนาคตแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการพบปะหารือในระดับรัฐมนตรีการต่างประเทศ รัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจและการค้า อันทำให้ความร่วมมือระหว่างกันมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
        ๒.๒ กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (๑๐+๓) ซึ่งความร่วมมือ ๑๐+๓ เป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) อันเป็นความก้าวหน้ามาจากความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) อันเป็นกระบวนการแบบพหุภาคีที่จะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจีนมุ่งผลักดันการเจรจาต่อรองทางการค้า การลงทุนและการบริการ ให้ยกระดับไปสู่รูปแบบความร่วมมือในการขยายการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (the Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ ๑๐+๖ สำหรับในการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม หรือ ๑๐+๓ ครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่ง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เสนอกรอบความร่วมมือ ๖ เรื่อง ได้แก่ (๑) ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเงิน (๒) ขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน (๓) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรและการลดความยากจน (๔) การเพิ่มระดับของการเชื่อมโยง (๕) สร้างรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และ (๖) ขยายด้านวัฒนธรรมและแลกเปลี่ยนระดับประชาชนสู่ประชาชน
        ๒.๓ กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: ADMM-Plus) โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งเป็นกลไกในระดับสูงที่จะสนับสนุนต่อความร่วมมือในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหม เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล การปรึกษาหารือกันในระดับรัฐมนตรี เกี่ยวกับสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพภายในภูมิภาค ซึ่งในการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเห็นร่วมกันว่า ภัยคุกคามจากไซเบอร์ การก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติและความมั่นคงทางทะเล เป็นความท้าทายที่สำคัญของภูมิภาคที่ต้องให้ความร่วมมือกันใกล้ชิดมากขึ้น การประชุม รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น การสร้างความเข้าใจร่วมกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ตลอดจนการฝึกร่วมกันมีความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพของภูมิภาค นอกจากนี้ ในปี ค.ศ.๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) กองทัพจีนก็ได้มีส่วนร่วมในการฝึกร่วมการรักษาสันติภาพและการเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่อินเดีย รวมทั้ง ในระหว่างปี ค.ศ.๒๐๑๗ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๓) จีนกับประเทศไทยเป็นประธานร่วมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในกรอบ ADMM-Plus เป็นต้น

บทสรุป

ในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นรูปธรรมและมีความทันสมัย รวมทั้ง มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิภาคและสากล จากการที่จีนกับอาเซียนสามารถกลายเป็นหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการพิทักษ์สันติภาพและความมั่นคง อีกทั้งเป็นหุ้นส่วนที่มีความใกล้ชิดในการพิทักษ์การค้าเสรีในกระแสโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน โดยจีนยินดีร่วมมือกับอาเซียน เพื่อเร่งการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรอบด้านในภูมิภาค เพื่อคัดค้านการกีดกันทางการค้า การเห็นแก่ผลประโยชน์ตนเองเป็นใหญ่ และร่วมพิทักษ์ระบอบการค้าพหุภาคี อันเป็นการเติมพลังแก่การพัฒนาทั้งในส่วนภูมิภาคและโลกด้วย จึงควรติดตามทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่ประเทศไทยจะรับบทบาทและหน้าที่เป็นประธานอาเซียน

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/08/c_137518849.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/08/63s271968.htm 

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9600000040698 

http://thai.cri.cn/247/2017/04/17/223s252946.htm

The State Council Information Office of the People’s Republic of China (2017) .China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd.