bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๖ ต.ค.๖๑ : ท่าทีของนายกรัฐมนตรีจีนต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีจีนต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง จากการได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีทาจิกิสถาน และนายกรัฐมนตรีอุชเบกิสถาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อคืนวันที่ ๑๒ ต.ค.๖๑ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้พบปะหารือกับนายอับดุลลา อารีพอฟ นายกรัฐมนตรีอุซเบกิสถาน ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) ครั้งที่ ๑๗ ที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน
        ๑.๑ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จีนกับอุซเบกิสถานเป็นประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตรและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในทุกด้าน มิตรภาพระหว่างสองประเทศมีมาช้านาน ได้ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมบนพื้นฐานอำนวยประโยชน์แก่กันอย่างเสมอภาค ได้เพิ่มพูนความไว้วางใจทางการเมือง ปฏิบัติตามโครงการความร่วมมือสำคัญหลายโครงการในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจการค้า พลังงาน การติดต่อเชื่อมโยงกัน เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายาม ในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับอุซเบกิสถานให้สูงขึ้น เพื่อสร้างผลงานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
        ๑.๒ นายอารีพอฟกล่าวว่า อุซเบกิสถานแสดงความพอใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างอุซเบกิสถานกับจีน อุซเบกิสถานสนับสนุนความเริ่มเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) หวังว่าจะผลักดันการก่อสร้างทางรถไฟอุซเบกิสถาน-จีนโดยเร็ว ผลักดันงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลสองประเทศ กระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน เกษตรกรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว

๒. เมื่อเช้าวันที่ ๑๓ ต.ค.๖๑ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เจรจากับนายโคคีร์ ราซุลโซดา นายกรัฐมนตรีทาจิกิสถาน ที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน
        ๒.๑ นายหลี่ เค่อเฉียง ได้แสดงความยินดีที่ทาจิกิสถานประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมนตรี ครั้งที่ ๑๗ ของการประชุมผู้นำรัฐบาลประเทศสมาชิก SCO โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน ความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศได้รักษาแนวโน้มการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งสองฝ่ายได้สนับสนุนกันและกัน เกี่ยวกับผลประโยชน์และปัญหาที่ต่างให้ความสำคัญ โดยจีนยินดีจะเชื่อมโยงความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI กับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาของทาจิกิสถาน ร่วมกันผลักดันความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ให้ก้าวหน้าต่อไป
        ๒.๒ นายโคคีร์ ราซูลโซดา กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทาจิกิสถานกับจีนพัฒนาในทุกด้าน ยุทธศาสตร์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง การติดต่อชั้นสูงใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ความไว้วางใจทางการเมืองมีความมั่นคง การกระชับความร่วมมือเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศและภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทาจิกิสถานยินดีเข้าร่วมการพัฒนา "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ที่กระชับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ เช่น การค้า พลังงาน คมนาคม เกษตรกรรม การลงทุนและรวบรวมเงินทุน เป็นต้น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้พัฒนาอย่างมั่นคง และทาจิกิสถานยินดีประสานงานอย่างใกล้ชิดกับจีนภายใต้กรอบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ หลักการของ BRI เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักการอยู่ร่วมกันของกฎบัตรสหประชาชาติในห้าประการ ได้แก่ (๑) ความเคารพซึ่งกันและกันในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน (๒) ร่วมกันที่ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (๓) ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน (๔) ความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันและ (๕) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
๓.๒ กรอบแนวคิดของ BRI เป็นวิธีการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองและเป็นเส้นทางไปสู่ความสงบสุขและมิตรภาพ โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันและความไว้วางใจรวมทั้งการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้าน ผ่านทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาโดยเชื่อมโยงกันเป็นวงกลมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ
                ๓.๒.๑ ประการแรก เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ และช่องทางการขนส่งคมนาคมที่สะดวกประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและพื้นที่ทุรกันดาร อีกทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนการค้าการลงทุนและขจัดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ ความเสรีทางการค้าและการลงทุน โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนต้องการสันติภาพ เปิดกว้าง และต้องการหยิบยื่นโอกาสการพัฒนาให้กับเอเชียและโลก
                ๓.๒.๒ ประการที่สอง ยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งยึดถือการแลกเปลี่ยนบุคคลและวัฒนธรรมเป็นตัวหนุนสำคัญ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในภูมิภาค ซึ่งจีนจะปฏิบัติตามหลักการร่วมหารือกับประเทศตามเส้นทางสายนี้ โดยข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นเหตุผลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม และถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในระดับประชาชนตามเส้นทาง

บทสรุป

โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของจีนให้สามารถหาทางออกสู่ทะเล รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการเข้าถึงทรัพยากรผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียกลางที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อภาคตะวันตกของจีนไปสู่ทวีปยุโรป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/13/c_137528884.htm

http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/11/c_137526260_3.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/14/121s272305.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/14/121s272309.htm

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ๒๕๕๘. บูรพาภิวัฒน์: ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : บริษัทมาตา จำกัด และ National Development and Reform Commission, Ministry of Foreign Affairs, and Ministry of Commerce of the People's Republic of China, with State Council authorization. March 2015. Vision and actions on jointly building silk road economic belt and 21st-century maritime silk road. Beijing: Foreign Language Press. )