bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๒ ก.ย.๖๑ : กรณีที่สถานกงสุลจีนประจำเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ

กรณีที่สถานกงสุลจีนประจำเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ ก.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในการประชุมวิชาการนานาชาติ “International Conference Belt and Road Initiative Lancang- Mekong Cooperation: New Era and New Start” ครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการทั้งจีนและไทย ตลอดจนผู้แทน และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ จากสถานทูตหรือสถานกงสุลสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู และฟิลิปปินส์ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๕๐๐ คนเข้าร่วมงาน โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ภายใต้โครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งนี้ เชียงใหม่ในฐานะจังหวัดที่มีสำคัญทางภาคเหนือของไทย ได้เตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับโอกาสใหม่ โดยจะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมงานนิทศการ และการท่องเที่ยว พัฒนาเมืองอัจฉริยะ

๒. การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความริเริ่มและร่วมมือของหน่วยงานของประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ในอันที่จะจัดให้มีกิจกรรมหรือเวทีทางวิชาการในระดับภูมิภาคที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทย จีน และนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีนกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการขยายบทบาทการพัฒนาความเจริญตามยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI

๓. รูปแบบการประชุมในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษาวิจัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นจาก นักวิชาการ นักวิจัย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย จีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการคมนาคม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาความสัมพันธ์ และผลกระทบเชิงลึกของความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาถึงพลวัตร ผลลัพธ์ และการคาดการณ์ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของรัฐบาลจีน เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน

๔. ข้อสังเกต ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีน อันเป็นภูมิภาคสำคัญทั้งในเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมบนบกและทางทะเล จึงถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาตามโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย อันเป็นการเพิ่มแรงผลักดันอย่างดียิ่งให้กับความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ในขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวว่า โครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ได้ส่งเสริมการติดต่อประสานงานกันระหว่างประเทศที่มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ อย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยมีการคาดหวังว่า BRI จะเป็นแรงผลักดันสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจของไทยพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

บทสรุป

การดำเนินความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะภายใต้กรอบโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ได้ทำให้จีนและไทยสามารถขยายความร่วมมือทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นเวทีสำคัญในการดำเนินความร่วมมือเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างจีนกับไทย และเป็นการเปิดรับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เข้าถึงโอกาสที่สำคัญๆ อันเกิดจากผลการพัฒนาของจีน ตลอดจนเป็นช่องทางที่จีนใช้ในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนกับอาเซียน โดยที่ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับจีน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://prcmu.cmu.ac.th/scoop_detail.php?sco_sub_id=2408

http://thai.cri.cn/247/2018/09/20/101s271391.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/25/234s268323.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/01/19/302s263228.htm 

http://inter.oop.cmu.ac.th/beltandroad2018/index.php