bg-head-3

ข่าวสาร

อาเซียนหันซบจีนผลักดันอาร์เซปแทนทีพีพี

 

ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2017 ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2560 ภาพเอเอฟพี

 

รัฐมนตรีพาณิชย์ฟิลิปปินส์เผย กลุ่มอาเซียนจะให้ความสำคัญลำดับแรกต่อการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียที่ดึงจีน, อินเดียและญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย หลังจากรัฐบาลสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากทีพีพีที่มีหลายชาติอาเซียนร่วมลงนาม

 

รามอน โลเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนหน้าที่ฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงมะนิลาสุดสัปดาห์นี้ในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน ว่าการที่สหรัฐถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) และความไม่แน่ใจต่อนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่มีแนวโน้มใช้นโยบายกีดกันการค้า ส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียต้องผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ขึ้นแทน

 

รัฐมนตรีฟิลิปปินส์กล่าวว่า สำหรับอาเซียนแล้ว อาร์เซปเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกว่าข้อตกลงอื่นใดที่ประเทศอื่นๆ กำลังดำเนินการอยู่

 

"แน่นอนว่าทุกคนอยากจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีผู้บริโภคมากมายที่สุดชาติหนึ่งในโลก แต่สหรัฐอาจไม่ได้เป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับอาเซียนแล้ว" โลเปซกล่าว

 

อาเซียนเริ่มผลักดันแนวคิดจัดตั้งอาร์เซปครั้งแรกเมื่อปี 2555 แต่เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) นี้กลับถูกบดบังรัศมีโดยทีพีพี ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันเพื่อกีดกันไม่ให้จีนเป็นผู้ร่างกฎการค้าโลก

 

4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ลงนามข้อตกลงทีพีพีนี้แล้ว แต่การที่ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัว ทำให้ทีพีพีขาดสมาชิกที่มีจีดีพีเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด ในขณะที่อาร์เซป ซึ่งจีนให้การสนับสนุน กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดภาษีศุลกากรสำหรับประเทศในเอเชียที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออก

 

นอกจากอาเซียน 10 ประเทศที่มีประชากร 620 ล้านคน และมีจีดีพีรวมกัน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว อาร์เซปยังรวมอีก 6 ชาติ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

 

โลเปซย้ำด้วยว่า อาร์เซปจะไม่ถูกบิดเบือนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะจีน ทุกประเทศถือเป็นสมาชิกเท่าเทียมกัน.

 

 

ที่มา : ไทยโพสต์