bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๒๘ พ.ย.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาคตะวันตกของจีนเปิดเส้นทางใหม่ ๗๘ สาย เป็นช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในปี​ ๒๐๒๒​ (พ.ศ.๒๕๖๕)

     จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๒๘ พ.ย.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาคตะวันตกของจีนเปิดเส้นทางใหม่ ๗๘ สาย เป็นช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในปี​ ๒๐๒๒​ (พ.ศ.๒๕๖๕)​ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของการขนส่งทุเรียนไทยสู่ตลาดในภาคตะวันตกของจีนได้รวดเร็วขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งถูกลง

     โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ช่องทางใหม่ทางภาคตะวันตกของจีนทั้งทางบกและทางทะเลมีการเปิดเส้นทางใหม่อย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย.๖๕ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีน-ลาว (ต้าโจว-เวียงจันทน์) ออกเดินทางเป็นครั้งแรก และเมื่อวันที่ ๑๗ พ.ย.๖๕ มีการเดินรถไฟระหว่างประเทศขบวนขนส่งแบบผสมทั้งทางบกและทางทะเลจากเมืองจิ่วฉวน-ท่าเรือชินโจว-เมืองรอตเตอร์ดัม เป็นครั้งแรก

     ทั้งนี้ นายหลิว เหว่ย ผู้อำนวยการศูนย์จัดการโลจิสติกส์และประกอบธุรกิจของช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน กล่าวว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมาภาคตะวันตกได้เปิดเส้นทางใหม่ ๗๘ สาย มากกว่าปีที่แล้ว ๕ เท่า สร้างสถิติใหม่ในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา และนับเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมภายใต้สถานการณ์สลับซับซ้อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

     ช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน ใช้มหานครฉงชิ่งเป็นใจกลาง โดยเมืองต่างๆ ในมณฑลที่ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเป็นจุดต่อเชื่อมโยงกับทางรถไฟ การขนส่งทางทะเล และทางหลวง ส่งสินค้าไปยังทั่วโลกผ่านด่านทางทะเลในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) และมณฑลยูนนานที่อยู่ทางภาคใต้ของจีน โดยได้ลดเวลาให้น้อยลงเมื่อเทียบกับการส่งสินค้าออกนอกประเทศโดยผ่านช่องทางภาคตะวันออก ดังนั้น ช่องทางใหม่ทางบก-ทะเลในภาคตะวันตกของจีนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคตะวันตกของจีน และกระตุ้นศักยภาพของการเปิดประเทศทางภาคตะวันตก

     นอกจากนี้ ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ตลอดเส้นทางยังใช้ประโยชน์จากช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน เพื่อแบ่งปันโอกาสทางการตลาดของจีนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนไทยจำนวนมากสามารถวางบนเคาน์เตอร์ของซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองทางภาคตะวันตกของจีน เช่น มหานครฉงชิ่งได้ภายใน ๑๐ วัน โดยขึ้นรถบรรทุก​ผ่านทางหลวงข้ามพรมแดนของช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน เพื่อรับประกันความสดของผลไม้ ซึ่งนายเติ้ง หงจิ่ว ประธานบริษัท Chongqing Hongjiu Fruit Co., Ltd. กล่าวว่า “ก่อนการเปิดช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเลในภาคตะวันตกของจีน ตามเส้นทางโลจิสติกส์ดั้งเดิม ทุเรียนไทยต้องขนส่งไปยังท่าเรือท้องถิ่นก่อน แล้วจึงมาถึงเมืองทางตะวันออกของจีนทางทะเล แล้วจึงขนส่งไปยังมหานครฉงชิ่ง ผ่านเส้นทางโลจิสติกส์ภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงและใช้เวลานานเกินไป”

ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://m.online.sh.cn/news/content/2022-11/21/content_9994866.htm )