bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒ พ.ย.๖๔ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ของจีน เข้าร่วมประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒๔

จีนศึกษา (วันอังคารที่ ๒ พ.ย.๖๔) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ นายหลี่ เค่อเฉียง (李克强) นายกรัฐมนตรี (国务院总理) ของจีน เข้าร่วมประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒๔ (第24次中国-东盟领导人会议) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๒๖ ต.ค.๖๔ ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง ผ่านระบบทางไกล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในปัจจุบันกำลังพัฒนาอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง โดยความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ดำเนินการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้งกับผู้นำประเทศอาเซียนในหลากหลายวิธี ปีนี้เป็นวาระครบรอบ ๓๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ตลอดช่วง ๓๐ ปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายยึดคำมั่นสัญญาสร้างความปรองดอง อำนวยประโยชน์แก่กัน ได้ชัยชนะร่วมกัน ส่งเสริมระบบพหุภาคี รักษาเสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในภาพรวม เมื่อเผชิญหน้าสถานการณ์โควิด-19 จีน-อาเซียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สนับสนุนแก่กัน ทำให้ความสัมพันธ์สองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นไปอีกระดับ

๒. นายหลี่ เค่อเฉียง ชี้ให้เห็นว่า จีนจะกระชับความร่วมมือที่เป็นมิตรและเป็นประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ ในโลกรวมถึงอาเซียน โดยได้ให้ข้อเสนอ ๖ ประการเกี่ยวกับความร่วมมือจีน-อาเซียนในขั้นต่อไป ได้แก่
๒.๑ ร่วมสร้างแนวป้องกันสุขภาพ โดยร่วมกันปรับปรุงความสามารถในการเตือนภัยล่วงหน้าและการตอบสนองฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอให้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณสุขระหว่างจีน-อาเซียน
๒.๒ ผนึกรวมเศรษฐกิจมากขึ้น โดยส่งเสริมการมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก่อนกำหนดเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของทุกประเทศในภูมิภาคตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ จีนได้สมัครอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาเซียน
๒.๓ ส่งเสริมการพัฒนาที่ทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยเร่งสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (加快推进构建蓝色经济伙伴关系) รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศและจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางในประเทศกลุ่มอาเซียน
๒.๔ ยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดย “ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน-อาเซียน (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘)” หรือ “关于落实中国-东盟数字经济合作伙伴关系的行动计划(2021-2025)”
๒.๕ เพิ่มความร่วมมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ "ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘)" หรือ “中国-东盟环境合作战略及行动计划(2021-2025)”
๒.๖ สร้างรากฐานเสียงประชาชนให้แข็งแกร่งบนพื้นฐานของการรับรองความปลอดภัยในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยเสนอให้จัดตั้งกลไกการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของจีน-อาเซียน

บทสรุป

นายหลี่ เค่อเฉียง เน้นย้ำว่า จีนสนับสนุนอย่างแข็งขันในการสร้างประชาคมอาเซียน และสนับสนุนอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างระดับภูมิภาคอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ออก "แถลงการณ์ร่วมจีน-อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนกรอบการทำงานเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของอาเซียน" (“中国-东盟关于合作支持〈东盟全面经济复苏框架〉的联合声明” และ "แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือจีน-อาเซียนเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน“ (“关于加强中国-东盟绿色和可持续发展合作的联合声明”)

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

http://www.chinaembassy.or.th/chn/zgyw/t1917069.htm