bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๘ ธ.ค.๖๒ ท่าทีความเคลื่อนไหวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนกับญี่ปุ่น

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๖ ธ.ค.๖๒ นายหวัง ฉีซัน รองประธานาธิบดีจีน ได้พบปะกับนายชิเกรุ คีตามูระ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น ที่กรุงปักกิ่ง
        ๑.๑ นายหวัง ฉีซัน กล่าวว่า เมื่อเดือน มิ.ย.๖๒ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ ได้พบปะกันที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในอนาคต จีน-ญี่ปุ่นเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ต่างมีภาระหน้าที่ในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก ด้วยเหตุนี้ทั้งสองฝ่ายจึงควรปฏิบัติตามความเห็นพ้องของผู้นำทั้งสองประเทศ ถือสถานการณ์ปัจจุบันเป็นพื้นฐาน มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เรียนรู้ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ จัดการและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศ
        ๑.๒ นายชิเกรุ คีตามูระ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้กลับมาพัฒนาอย่างแข็งขัน การติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะเตรียมความพร้อมสำหรับการติดต่อระหว่างผู้นำสองประเทศในอนาคต เพื่อพยายามสร้างบรรยากาศที่ดี

๒. เมื่อวันที่ ๑ ธ.ค.๖๒ นายยูกิโอะ ฮาโตยามะ (Yukio Hatoyama) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหวา โดยกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นนอกจากต้องส่งเสริมการติดต่อระหว่างสองฝ่ายในภาครัฐบาลแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญต่อการติดต่อในภาคเอกชนของสองประเทศอีกด้วย ซึ่งเมื่อกล่าวถึงประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นชี้ว่า ภายในประเทศ จีนได้ทุ่มเทกำลังขจัดความยากจนและมีผลเป็นที่น่าพอใจ นอกประเทศ จีนขับเคลื่อนความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เสนอโอกาสการพัฒนาที่ดีต่อบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่งเสริมกระบวนการลดความยากจนของทั่วโลกให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนั้นอดีตนายกฯ ญี่ปุ่นได้แสดงความชื่นชมต่อจีนที่เน้นการอำนวยผลระโยชน์ซึ่งกันและกันท่ามกลางความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคีกับประเทศรอบข้าง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้มากยิ่งขึ้น

๓. ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย.๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และนายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมเป็นประธานในการประชุม ภายใต้กลไกการปรึกษาหารือระดับสูงในการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
        ๓.๑ นายหวัง อี้ กล่าวว่า การสร้างกลไกการปรึกษาหารือระดับสูงในการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีน-ญี่ปุ่นนั้นเป็นความเห็นพ้องต้องการที่สำคัญของผู้นำทั้งสองประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันลึกซึ้งของผู้นำทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระหว่างจีน-ญี่ปุ่นหยั่งรากลึก สะสมการผสมผสานวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของสองประเทศมายาวนาน และได้กลายเป็นข้อผูกพันของประชาชนทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นพลังขับเคลื่อนที่ไม่มีวันสิ้นสุดในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จีนยินดีร่วมกับญี่ปุ่นในการวางแผนการแลกเปลี่ยนที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยขยายการติดต่อไปมาหาสู่กันระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย เพิ่มการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เสริมความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสาธารณชนมากขึ้น ผลักดันการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้อารยธรรมของกันและกัน เพิ่มพูนความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประชาชนของสองประเทศ พร้อมทั้งสร้างความผูกพันทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และพื้นฐานสาธารณะที่มั่นคงแก่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในระยะยาว
        ๓.๒ นายโทชิมิตสึ โมเตกิ กล่าวว่า ประวัติการไปมาหาสู่กันระหว่างจีน-ญี่ปุ่นมีมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี การแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความเข้าใจระหว่างกัน และเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ยั่งยืน

๔. ข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเปราะบางของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ที่ยังต้องใช้เวลาในการจัดการแก้ไข เช่น
        ๔.๑ ปัญหาความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ เป็นปัญหาการเมืองที่ไวต่อความรู้สึกในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี ๒๐๐๑ (พ.ศ.๒๕๔๔) เป็นต้นมา ที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นไม่นำพาต่อสภาพความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ตลอดจนการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปคารวะศาลเจ้ายาซุคุนิซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามในประวัติศาสตร์
        ๔.๒ ปัญหาไต้หวัน โดยจีนมีจุดยืนชัดแจ้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไต้หวัน กล่าวคือ ไม่ขัดข้องเรื่องญี่ปุ่นกับไต้หวันดำเนินการไปมาหาสู่กันภาคเอกชน แต่คัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยว เรื่องดำเนินการไปมาหาสู่กันภาครัฐบาลไม่ว่าในรูปแบบใดๆ
        ๔.๓ ปัญหาเกาะเตี้ยวอี๋ ทึ่จีนถือว่าอยู่บนน่านน้ำตงไห่ห่างจากเมืองจีหลง มณฑลไต้หวันของจีนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๙๒ ไมล์ทะเล
        ๔.๔ ปัญหาความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ จากการประกาศแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางความมั่นคงญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เมื่อปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙)

บทสรุป
แม้ว่าท่าทีของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะมีสัญญาณในเชิงบวกเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จากการพบปะระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการสร้างกลไกการจัดการต่อปัญหา เพื่อสนับสนุนความเชื่อใจทางการเมืองร่วมกัน และการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ต่อผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะในด้านเศราฐกิจก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นนั้นยังมีความอ่อนไหวและซับซ้อนอยู่ ดังนั้น หนทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ยังคงต้องใช้เวลาและการเดินทางอีกยาวไกล คล้ายกับคำกล่าวที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล KU.40

ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.chinadaily.com.cn/a/201912/06/WS5dea59f7a310cf3e3557c81d.html

http://thai.cri.cn/20191206/7d1a7a68-ceec-314b-f26f-c93b3d628e66.html

http://thai.cri.cn/20191202/97445f26-44e1-61c6-410f-a0021c9ee519.html

http://thai.cri.cn/20191126/450cacd8-6559-fbf6-ba50-8e9541ab91bc.html

https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Xi-Jinping-set-to-make-first-state-visit-to-Japan-in-April