bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๗ ก.ค.๖๑ : แนวคิดของจีนในการเปิดหลักสูตรการอบรม

แนวคิดของจีนในการเปิดหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะขีดความสามารถ รวมทั้งยกระดับการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๓ ก.ค.๖๑ ที่ผ่านมาได้มีการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ที่เมืองกว่างโจว (กวางเจา) โดยมีผู้เข้าอบรมจาก ๕ ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม จะเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา ๒๒ วัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีนจัดการฝึกอบรมด้านนี้ให้กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
        ๑.๑ การอบรมในครั้งนี้ ร่วมกันจัดขึ้นโดยกรมกิจการทางทะแลแห่งชาติจีน และกรมกิจการทางทะเลของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)
        ๑.๒ การอบรมจะมีเนื้อหาการประสานงานและการช่วยเหลือขณะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางทะเล ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โดยมีการฝึกอบรมในสถานที่จริงและเน้นการแลกเปลี่ยน เพื่อเสริมขีดความสามารถของผู้ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ ได้มีพิธีเปิดการอบรมเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการ ความร่วมมือของ ๖ ประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง โดยผู้แทนจากจีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม
        ๒.๑ ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า จะจัดการอบรมผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมติการประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือของประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เพื่อยกระดับความร่วมมือให้สูงขึ้น
        ๒.๒ การอบรมครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา ๑๒ วัน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของจีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและศึกษาดูงาน ทั้งที่กรุงปักกิ่งและเมืองเซินเจิ้นของจีน เพื่อผลักกันความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้เดินหน้าด้วยดี

๓. ข้อสังเกต หลังจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงครั้งที่ ๒ เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.๖๑ ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง อันเป็นการแสดงให้ถึงความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้พัฒนาจากระยะบ่มเพาะไปสู่ระยะเติบโตแล้ว โดยเฉพาะในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านการสร้างกลไกความร่วมมือ การสนับสนุนทางเงินทุน และจิตสำนึกแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ล้วนได้ผลคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ในด้านการสร้างกลไกนั้น ได้รับผลคืบหน้าสำคัญอย่างมาก ฝ่ายต่างๆ ได้สร้างสำนักเลขาธิการ องค์กรประสานงานของชาติ ตลอดจนศูนย์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกจากนี้ ฝ่ายต่างๆ ยังเห็นด้วยที่จะจัดตั้งสำนักเลขาธิการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมได้รับผลคืบหน้าอันสำคัญด้วย เช่น การคุ้มครองสัตว์ป่าข้ามชาติ ในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และการศึกษาอบรมเพื่อการเรียนรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การเกษตร ระบบรักษาพยาบาล สาธารณสุขและโครงการชลประทาน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับวาระการประชุมของการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ของสหประชาชาติ

บทสรุป

จีนได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบความร่วมมือที่สอดคล้องกันตามขั้นตอนการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก พร้อมไปกับการผลักดันความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงอย่างจริงจัง อันจะทำให้รูปแบบของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่น้ำโขงจะกลายเป็นเวทีใหม่ในการพัฒนาประชาคมร่วม และจะนำไปสู่การรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของภูมิภาคในกรอบความร่วมมือของอาเซียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://en.silkroad.news.cn/2018/0704/101589.shtml

http://thai.cri.cn/247/2018/07/05/123s268694.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/01/17/123s263128.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/01/11/121s262891.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/03/27/62s265687.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/01/11/232s262884.htm