ตอนที่ ๒ สังคมศักดินาในสมัยโบราณ

 

ตอนที่ ๒ สังคมศักดินาในสมัยโบราณ

 

          แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศชาติที่ยิ่งใหญ่ มีดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล มีพลเมืองมากมาย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน, อุดมไปด้วยประเพณีสืบเนื่องในทางปฏิวัติ และมีมรดกตกทอดอันล้ำเลิศก็ตาม; แต่ว่า หลังจากที่พ้นจากระบอบทาสและเข้าสู่ระบอบศักดินาแล้ว การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของจีนก็ตกอยู่ในภาวะที่คลี่คลายไปอย่างเชื่องช้าเป็นเวลายาวนาน. นับแต่ราชวงศ์โจวและราชวงศ์ฉินเป็นต้นมา ระบอบศักดินานี้ได้สืบเนื่องกันมาประมาณ ๓,๐๐๐ ปี. 

          ระบอบเศรษฐกิจและระบอบการเมืองในยุคศักดินาของจีนนั้น ประกอบด้วยลักษณะพิเศษสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้:

          ๑. เศรษฐกิจธรรมชาติที่ผลิตเองใช้เองอยู่ในฐานะสำคัญ. ชาวนาไม่เพียงแต่ผลิตผลิตผลทางการเกษตรที่ตนต้องการเท่านั้น, หากยังผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมส่วนใหญ่ที่ตนต้องการอีกด้วย. ค่าเช่านาที่พวกเจ้าที่ดินและพวกเจ้าขุนมูลนายขูดรีดไปจากชาวนานั้น ก็เอาไปบำเรอความสุขส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ มิใช่เอาไปใช้สำหรับแลกเปลี่ยน. ในเวลานั้น ถึงแม้จะมีการพัฒนาในทางแลกเปลี่ยน แต่ก็มิได้มีบทบาทชี้ขาดในเศรษฐกิจทั่วทั้งหมด. 

          ๒. ชนชั้นปกครองศักดินา อันได้แก่พวกเจ้าที่ดิน พวกเจ้าขุนมูลนายและพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ที่สุด ส่วนชาวนากลับมีที่ดินเพียงนิดเดียว หรือไม่มีที่ดินกันเลย. ชาวนาทำนาในที่ดินของเจ้าที่ดิน เจ้าขุนมูลนายและพวกเชื้อพระวงศ์ด้วยเครื่องมือของตนเอง และนำเอาผลิตผลเป็นจำนวนถึงร้อยละ ๔๐ ๕๐ ๖๐ ๗๐หรือกระทั่ง ๘๐ ขึ้นไปประเคนให้เจ้าที่ดิน เจ้าขุนมูลนายและพวกเชื้อพระวงศ์สำหรับบำเรอความสุขส่วนตัว. ชาวนาอย่างนี้ แท้ที่จริงยังคงเป็นทาสกสิกร. 

          ๓. ไม่เพียงแต่เจ้าที่ดิน เจ้าขุนมูลนายและพวกเชื้อพระวงศ์เท่านั้นที่ดำรงชีวิตด้วยอาศัยการขูดรีดค่าเช่านาจากชาวนา ทั้งรัฐของชนชั้นเจ้าที่ดินก็ยังบังคับชาวนาให้ส่งส่วยสาอากร และบังคับเกณฑ์แรงชาวนาไปทำงานให้เปล่า ๆ เพื่อขุนเลี้ยงข้าราชการกลุ่มใหญ่ของรัฐและกองทหารซึ่งใช้สำหรับปราบปรามชาวนาเป็นสำคัญด้วย. 

          ๔. องค์การอำนาจที่คุ้มครองระบอบขูดรีดแบบศักดินาชนิดนี้คือรัฐศักดินาของชนชั้นเจ้าที่ดิน. ถ้าจะกล่าวว่า ในสมัยก่อนราชวงศ์ฉิน ประเทศจีนเป็นรัฐศักดินาที่บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นต่างแข็งอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่แล้ว หลังจากพระเจ้าจีนซีอ๋องได้รวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ได้สถาปนารัฐศักดินาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รวมอำนาจไว้ในส่วนกลาง; ในเวลาเดียวกัน ก็ยังคงรักษาภาวการณ์แข็งอำนาจแบบศักดินาไว้ในบางระดับ. ในรัฐศักดินานี้ พระเจ้าจักรพรรดิทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด ได้แต่งตั้งขุนนางไว้ตามท้องที่ต่าง ๆ สำหรับควบคุมดูแลการทหาร การศาล การเงินและเสบียงหลวง และอาศัยพวกเจ้าที่ดินและพวกผู้ดีเป็นรากฐานของการปกครองแบบศักดินาทั้งระบอบ. 

          ชาวนาจีนในทุกยุคทุกสมัยต่างดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นเยี่ยงข้าทาสภายใต้การขูดรีดทางเศรษฐกิจแบบศักดินาและการกดขี่ทางการเมืองแบบศักดินานี้. ชาวนาถูกผูกมัดไว้กับระบอบศักดินา ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย. เจ้าที่ดินมีอำนาจดุด่าโบยตีกระทั่งฆ่าชาวนาได้ตามอำเภอใจ ชาวนาไม่มีสิทธิ์ทางการเมืองแต่อย่างใดเลย. ความยากจนข้นแค้นและล้าหลังอย่างสุดขีดของชาวนาอันเนื่องมาจากการขูดรีดและกดขี่อย่างทารุณของชนชั้นเจ้าที่ดินเช่นนี้ คือมูลเหตุพื้นฐานที่สังคมประเทศจีนหยุดชะงักไม่คืบหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิตทางสังคมมาเป็นเวลาหลายพันปี. 

          ความขัดแย้งหลักในสังคมศักดินานั้น คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นชาวนากับชนชั้นเจ้าที่ดิน. 

          ในสังคมเช่นนี้ มีแต่ชาวนาและกรรมกรหัตถกรรมเท่านั้นที่เป็นชนชั้นพื้นฐานที่สร้างโภคทรัพย์และวัฒนธรรม. 

          การขูดรีดทางเศรษฐกิจและการกดขี่ทางการเมืองอย่างทารุณที่ชนชั้นเจ้าที่ดินกระทำต่อชาวนานั้น ได้บีบบังคับให้ชาวนาก่อการลุกขึ้นสู้หลายต่อหลายครั้ง เพื่อต่อต้านการปกครองของชนชั้นเจ้าที่ดิน. นับจากเฉินเซิ่ง หวูกว่าง, เซี่ยงหยี่ และเล่าปังในสมัยราชวงศ์ฉินเป็นต้นมา มีทัพซินซื่อ ทัพผิงหลิน ทัพคิ้วแดง ทัพม้าทองสำริดและทัพโพกผ้าเหลืองในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีหลี่มี่และโต้วเจี้ยนเต๋อในสมัยราชวงศ์สุย มีหวางเซียนจือและหวงเฉา๑๐ในสมัยราชวงศ์ถัง, มีซ้องกั๋งและฟางล่า๑๑ในสมัยราชวงศ์ซ้อง มีจูหยวนจาง๑๒ในสมัยราชวงศ์หงวน มีหลี่จื้อเฉิง๑๓ในสมัยราชวงศ์เหม็ง, กระทั่งถึงไท่ผิงเทียนกว๋อ๑๔ในสมัยราชวงศ์เช็ง รวมทั้งสิ้นมีการลุกขึ้นสู้ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายร้อยครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านของชาวนาและเป็นสงครามปฏิวัติของชาวนาทั้งสิ้น. ขนาดความใหญ่โตของการลุกขึ้นสู้ของชาวนาและสงครามชาวนาในประวัติศาสตร์ของจีนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดจะเปรียบเสมอได้ในประวัติศาสตร์ของโลก. ในสังคมศักดินาของจีน มีแต่การต่อสู้ทางชนชั้นของชาวนา การลุกขึ้นสู้ของชาวนาและสงครามของชาวนาเช่นนี้เท่านั้นที่เป็นพลังดันอันแท้จริงในการพัฒนาของประวัติศาสตร์. เพราะว่าผลของการหลุกขึ้นสู้ของชาวนาและสงครามชาวนาที่ค่อนข้างใหญ่โตในแต่ละครั้ง ล้วนเป็นการโจมตีการปกครองแบบศักดินาในเวลานั้นทั้งสิ้น และดังนั้นจึงเป็นการผลักดันพลังของการผลิตของสังคมให้พัฒนาไปไม่มากก็น้อย. เพียงแต่เพราะว่าในเวลานั้นยังไม่มีพลังการผลิตอันใหม่และความสัมพันธ์การผลิตอันใหม่ ไม่มีพลังชนชั้นอันใหม่ และไม่มีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า การลุกขึ้นสู้ของชาวนาและสงครามชาวนาชนิดนี้จึงไม่อาจได้รับการนำที่ถูกต้องจากชนชั้นกรรมาชีพและพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น จึงทำให้การปฏิวัติของชาวนาต้องพ่ายแพ้อยู่ร่ำไป และไม่พ้นที่จะถูกพวกเจ้าที่ดินและพวกเจ้าขุนมูลนายเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเปลี่ยนราชวงศ์ในระหว่างหรือภายหลังการปฏิวัติ. ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่การต่อสู้ปฏิวัติของชาวนาขนาดใหญ่ในแต่ละครั้งยุติลง แม้ว่าสังคมจะได้ก้าวหน้าไปบ้าง แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบศักดินาและระบอบการเมืองแบบศักดินาก็ยังคงสืบเนื่องกันอยู่ต่อไปโดยพื้นฐาน. 

          ตราบจนในระยะร้อยปีมานี้ สภาพเช่นนี้จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้น.

 

FaLang translation system by Faboba