bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันเสาร์ที่ ๒๙ ธ.ค.๖๑ : ปัจจัยในการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจของจีน

ปัจจัยในการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจของจีน อันสืบเนื่องจากการประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน ในระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๑ ธ.ค.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในการประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน โดยได้สรุปผลงานเศรษฐกิจปีนี้ รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันในรายละเอียด และจัดวางงานเศรษฐกิจทั่วประเทศในปีหน้า ตลอดจนการกำหนดทิศทางและกฎเกณฑ์อย่างชัดเจน โดยที่ประชุมระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจจีน ควรวิเคราะห์และพิจารณาจาก ๓ ปัจจัย ได้แก่
        ๑.๑ ผลงานที่ได้และ ๕ กฎเกณฑ์ ซึ่งจากภาคการปฏิบัติในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา จีนได้รับรู้ ๕ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินงานเศรษฐกิจในสถานการณ์ใหม่ดีมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ (๑) ควรยืนหยัดระบบการนำที่เป็นเอกภาพรวมศูนย์ โดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำ (๒) ควรรู้สถานการณ์ปัจจุบันจากภาพรวมในระยะยาว (๓) ประเมินระดับการควบคุมมหภาคอย่างแม่นยำ (๔) ตอบปัญหาที่สำคัญของสังคมอย่างทันกาล และ (๕) ควรมีความกระตือรือร้นในการทำงาน
        ๑.๒ การพัฒนาของจีนอยู่ในช่วงโอกาสยุทธศาสตร์สำคัญระยะยาว โดยสิ่งที่สามารถบอกได้มาจากข้ออ้างอิงที่ว่า สันติภาพและการพัฒนายังคงเป็นหัวข้อหลักของยุคสมัย กระแสเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ แม้จะมีความผันผวน ห่วงโซ่ธุรกิจทั่วโลกมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะดำเนินไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการช่วยเหลือผู้ยากจน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรักษาสันติภาพ และอื่นๆ ล้วนไม่สามารถตัดจีนออกจากการมีส่วนร่วมได้
        ๑.๓ คีย์เวิร์ดเศรษฐกิจ ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) มุ่งนโยบาย ๘ ตัวอักษร เพื่อ ๓ เป้าหมาย และกิจการหลัก ๗ ประการ ซึ่งในที่ประชุมระบุว่า ความขัดแย้งรายใหญ่ในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของจีนยังคงมาจากฝ่ายอุปทาน จึงควรใช้นโยบาย ๘ ตัวอักษรจีน ซึ่งแปลว่า “สร้างเสริม เพิ่มเติม ยกระดับ คล่องแคล่ว” รวมถึงความพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรลุ ๓ เป้าหมาย ได้แก่ การป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ การช่วยเหลือคนจน และ การป้องกันและกำจัดมลพิษ นอกจากนี้ ยังควรดำเนินกิจการหลัก ๗ ประการ ได้แก่ (๑) ส่งเสริมภาคการผลิตให้ได้คุณภาพ (๒) พัฒนาตลาดภายในประเทศให้เติบโต (๓) เดินหน้ายุทธศาสตร์การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่ชนบท (the rural revitalization strategy) (๔) พัฒนาภูมิภาคให้ประสานกลมกลืน (๕) เร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจ (๖) เปิดเสรีทุกระดับ (๗) เพิ่มการประกันและปรับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

๒. ที่ประชุมได้กล่าวถึงเรื่องนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของจีนว่า ต้องเน้นปรับปรุงปัจจัยที่ตรงข้ามกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายการคลังที่แข็งขันและนโยบายการเงินที่มั่นคง มีการปรับปรุงล่วงหน้าและเล็กน้อยตามเวลาที่เหมาะสม ทำให้ความต้องการอยู่ในระดับที่มั่นคง
        ๒.๑ โดยนโยบายการคลังที่แข็งขันต้องเพิ่มประสิทธิผล ลดหย่อนภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มปริมาณตราสารหนี้ของทางการท้องถิ่น
        ๒.๒ ส่วนนโยบายการเงินที่มั่นคงนั้นต้องมีทั้งความความยืดหยุ่นและความเข้มงวด รักษาสภาพคล่องให้เหมาะสม ปรับปรุงกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการระดมทุนโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาการระดมทุนยากและค่าใช้จ่ายสูงของวิสาหกิจเอกชนและวิสาหกิจรายย่อย

บทสรุป

จีนจะมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นจริง ด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่ยุติธรรม เพิ่มกำลังทางตลาด ลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจของวิสาหกิจ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเอกชนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังต้องรักษาการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้อยู่ในช่วงที่สมเหตุสมผล ต้องรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก โดยการปฏิบัติตามความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการผลักดันการพัฒนาคุณภาพสูง เร่งรัดนโยบายเอกสารที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านที่สำคัญ ที่มีคุณภาพสูง เช่น การออกแบบอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมนิวไฮเทค การบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เป็นต้น สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ได้มีผลงานใหม่อย่างมาก และคาดว่ายอดเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะสูงถึง ๙๐ ล้านล้านหยวน ซึ่งเมื่อเทียบกับเป้าหมายการสร้างสรรค์สังคมพอกินพอใช้อย่างรอบด้านให้ได้ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ถือว่าสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่กำหนดในยุทธศาสตร์ที่สำคัญดังกล่าว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/20181224/5d1445d5-8940-2e9a-32e2-f478fb5ec43f.html 

http://thai.cri.cn/20181222/1a7d1cf5-3d65-f2f4-6e9d-88aef795592e.html 

http://thai.cri.cn/20181223/52228c9f-653b-23d7-8576-b97139cbeace.html