bg-head-3

新闻

จีนออกโรงปกป้องรัฐบาลพม่า

 

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอุ้มคนชราเดินทางข้ามแม่น้ำนาฟมาถึงเมืองเทคนาฟของบังกลาเทศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ภาพ AFP

 

 

จีนออกโรงแล้ว ประกาศสนับสนุนรัฐบาลเมียนมารักษาสันติสุขและเสถียรภาพในรัฐยะไข่ ที่กองทัพกำลังเปิดปฏิบัติการกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจา ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาอพยพเข้าบังกลาเทศแล้ว 370,000 คน ขณะทำเนียบขาววิตกความรุนแรงที่เกิดจากทั้ง 2 ฝ่าย

 

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ท่าทีของรัฐบาลจีนที่แถลงโดยเกิ้งซวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ดูเหมือนเป็นการแทรกแซงที่มีเจตนาสกัดกั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ตำหนิเมียนมาในที่ประชุมที่นิวยอร์กวันพุธนี้

 

คำกล่าวของโฆษกจีนยังมีออกมาไล่หลังทำเนียบขาวของสหรัฐแสดงความห่วงกังวลต่อวิกฤติในเมียนมาล่าสุดนี้ ซึ่งสหรัฐประณามความรุนแรงทั้งการโจมตีที่ตั้งทางทหารของเมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และความไม่สงบที่ตามมา

 

ในคำแถลงที่กรุงปักกิ่ง โฆษกจีนกล่าวว่า จีนประณามการโจมตีด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในรัฐยะไข่ของเมียนมา และจีนสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลนางอองซาน ซูจี ในการ "ธำรงสันติสุขและเสถียรภาพ" ในรัฐยะไข่ของเมียนมา จีนหวังว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อยและชีวิตปรกติสุขจะกลับคืนสู่ที่นั่นโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

"เราคิดว่าประชาคมระหว่างประเทศควรสนับสนุนความพยายามของเมียนมาในการปกปักรักษาเสถียรภาพของการพัฒนาประเทศนี้" โฆษกจีนกล่าว

 

เหตุการณ์รุนแรงรอบล่าสุดในเมียนมาทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองเมียนมาและถูกกดขี่มาช้านาน พากันอพยพข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศ ข้อมูลล่าสุดของโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประเมินว่า มีโรฮีนจาเข้าบังกลาเทศเพิ่มขึ้นเป็น 370,000 คนแล้ว

 

จำนวนมากที่เดินทางมาถึงบอกเล่าถึงความโหดร้ายด้วยน้ำมือของทหารและม็อบชาวพุทธยะไข่ที่เผาหมู่บ้านของพวกเขา คำกล่าวอ้างนี้ไม่สามารถตรวจสอบอย่างอิสระได้เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้ผู้ตรวจสอบต่างชาติหรือสื่ออิสระเข้าพื้นที่

 

รัฐบาลของนางซูจียืนกรานปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านี้ แต่กลับกล่าวโทษพวกกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจาว่าวางเพลิงหมู่บ้านนับพันๆ แห่ง รวมถึงของชาวโรฮีนจาเอง และเมื่อคืนวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมายังออกแถลงการณ์ปกป้องกองทัพว่าปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูเสถียภาพตามกฎหมาย และทหารใช้ความอดกลั้นและพยายามหลีกเลี่ยงความเสียหายข้างเคียงแล้ว

 

เซอิด ราอัด อัลฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น เพิ่งกล่าวประณามเมียนมาต่อที่ประชุมที่เจนีวาเมื่อวันก่อนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ตรงตามตัวอย่างในตำราของการล้างเผ่าพันธุ์

 

รัฐบาลอังกฤษและสวีเดนได้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นประชุมหารือวิกฤติในเมียนมาวันพุธที่ 13 กันยายน หลังจากที่คณะมนตรีฯ เคยปิดห้องประชุมกันมาแล้วเมื่อปลายเดือนสิงหาคม เพื่อหารือสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการได้

 

อีกด้านหนึ่ง นายกฯ เชค ฮาสินา ของบังกลาเทศซึ่งได้ไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจาที่เมืองคอกซ์บาซาร์เมื่อวันอังคาร ได้กล่าวย้ำว่าเมียนมาต้องเป็นฝ่ายแก้ไขวิกฤตินี้ "เราจะร้องขอให้รัฐบาลเมียนมายุติการกดขี่ประชาชนผู้บริสุทธิ์"

 

บังกลาเทศรองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอยู่แล้ว 400,000 คนก่อนเกิดวิกฤติรอบใหม่นี้ และรัฐบาลมีแผนจะสร้างค่ายขนาดใหญ่แห่งใหม่เพื่อรองรับ ซึ่งรวมถึงบนเกาะเธงกาชาร์หรือชื่อใหม่ว่าพาชันชาร์ ที่อยู่ปากแม่น้ำเมฆนาและไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัย.

ที่มา ไทยโพสต์ออนไลน์