bg-head-3

新闻

พลังซื้อทัวริสต์จีนแรงไม่หยุด ธุรกิจกระหน่ำสารพัดแคมเปญรับดีมานด์

 

 

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการเติบโตของการส่งออก ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แรงซื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยกว่า 30 ล้านคนต่อปี ก็เป็นอีกโอกาสสำคัญของสินค้า-บริการต่าง ๆ ในเวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยกว่า 8.8 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ที่ชื่นชอบสินค้าไทยด้วยเรื่องรสชาติที่ถูกปาก คุณภาพที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่มักซื้อกลับไปเป็นของขวัญของฝากในรูปแบบไซซ์ใหญ่ ปริมาณมาก ๆ

 

ค้าปลีกเพิ่มน้ำหนักจับทัวริสต์

 

นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าให้เติบโตต่อเนื่อง สำหรับสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่ผ่านมาก็มีทราฟฟิกจากกลุ่มนักท่องเที่ยว อาทิ เกาหลี จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมกันกว่า 30% บริษัทจึงให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น โดยหลัก ๆ จะเป็นการทำโปรแกรมซีอาร์เอ็มร่วมกับพันธมิตรค้าปลีกกว่า 10 รายในต่างประเทศ รวมถึงเดินทางไปจัดกิจกรรมโรดโชว์ที่เยอรมนี ดูไบ จีน ฯลฯ เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้กิจกรรมดังกล่าว

 

 

สอดคล้องกับ นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่ระบุว่า กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเดอะมอลล์จะเดินหน้าพัฒนาโครงการค้าปลีกในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เช่น โครงการบลูพอร์ต หัวหิน ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว หรือบลูเพิร์ล ภูเก็ต ที่มีแผนเปิดปลายปีหน้า หรือต้นปี 2562

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้า ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ก็มีความเคลื่อนไหวในการทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มนี้เช่นกัน อย่างกรณีของเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิดให้บริการในย่านที่มีนักท่องเที่ยวชาวชาวจีนพักอาศัยอยู่มาก หรือย่านที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไป จะมีการจัดชั้นสินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน มีการติดป้ายเพื่อสื่อและส่งเสริมการขายเป็นภาษาจีน รวมทั้งรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าปลีกในไทยรองรับระบบนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมกันนี้ก็มีผู้ประกอบการจีนเข้ามาเสนอบริการด้านการตลาดออนไลน์สำหรับเจาะกลุ่มลูกค้าจีนโดยเฉพาะ เช่น เทนเซ็นต์ บริษัทยักษ์เทคโนโลยีจากจีน ซึ่งเข้ามาตั้ง เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดที่เชื่อมโยงกับโซเชียลเน็ตเวิร์กและแอปแชตของจีน หวังจับลูกค้าแบรนด์ไทยที่ต้องการทำตลาดในจีน

 

โอกาสใหม่ สแน็ก-โรงพยาบาล

 

ขณะที่นางวาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด บอกว่า สินค้าของนารายา ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมาก ด้วยตัวสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ใช้งานได้ในหลายโอกาส คุณภาพดีในราคาไม่แพง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากโซนเอเชีย อย่างจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น นิยมซื้อมาก จนคนจีนเรียกกระเป๋านารายาว่า มั่นกู่ เปา ที่แปลว่ากระเป๋าของกรุงเทพฯ มากรุงเทพฯแล้วต้องมาซื้อ ซึ่งตอนนี้นารายามีกว่า 23 สาขาในไทย และกว่า 13 สาขาในต่างประเทศ

 

ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มขนมขบเคี้ยวไทยก็ได้รับความนิยมมากในหลายแบรนด์ อาทิ เถ้าแก่น้อย, โก๋แก่ รวมทั้งเบนโตะ ของค่ายศรีนานาพร ที่ได้รับการตอบรับดี จนมีแผนขยายตลาดไปในประเทศจีน

 

นายฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานธุรกิจ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ เจเล่, เบนโตะ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคจีนชื่นชอบสินค้าไทย ซึ่งรวมถึงสินค้าของศรีนานาพร โดยเฉพาะปลาหมึกอบปรุงรส “เบนโตะ” ด้วยแนวโน้มดังกล่าว ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปเปิดบริษัทลูกใน 2 มณฑล ได้แก่ กวางเจา และเซี่ยงไฮ้ เพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยังประเทศจีน เน้นขายผ่านร้านโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก

 

“สินค้าของบริษัทเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาเที่ยวในไทยและซื้อกลับไป ด้วยโอกาสที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงตัดสินใจเข้าไปเปิดบริษัทลูกที่จีน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย”

 

ขณะที่ นายแพทย์อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรงพยาบาลพญาไท 2 มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เข้ารับการรักษาในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น ปัจจุบันคนจีนกลายเป็นกลุ่มที่กำลังมาแรง และเข้ามาใช้บริการของ รพ.เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเข้ามาใช้บริการศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก และคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้เข้ารับการรักษาที่เป็นชาวต่างชาติจะเพิ่มเป็น 30% และคนไทย 70% จากปัจจุบันที่สัดส่วนต่างชาติ 20% และคนไทย 80%

 

แนะใช้ออนไลน์เจาะลูกค้าจีน

 

ทั้งนี้ นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวถึงความน่าสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเมืองไทยกว่า 55% เป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อสูง ด้วยรายได้เฉลี่ยที่มากกว่า 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในไทยราว 6-9 วัน ใช้จ่าย 6,000-7,000 บาทต่อวัน เดินทางมาเองมากกว่าผ่านบริษัททัวร์ โดยกิจกรรมที่เข้ามาทำในเมืองไทย หลัก ๆ คือมาช็อปปิ้ง มาเที่ยวเกาะ-ทะเล ใช้บริการทางการแพทย์-สุขภาพ ตลอดจนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างคอนโดมิเนียม

 

การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นโอกาสของหลากหลายธุรกิจ ที่รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างขนมขบเคี้ยว, อาหาร-เครื่องดื่มต่าง ๆ, ยาดม ตลอดจนกลุ่มของใช้ส่วนบุคคล เครื่องสำอาง รสชาติ-คุณภาพสินค้าที่ดีที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการสินค้าเหล่านี้มากขึ้น การทำการตลาด สื่อสารถึงลูกค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาในไทย จึงเป็นแนวทางที่เจ้าของสินค้าให้ความสำคัญมากกว่าการรอให้โอกาสเข้ามาเหมือนแต่ก่อน

 

“ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลเฉพาะสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ช่วยให้การทำการตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนทำได้ง่ายขึ้น ก่อนมาเมืองไทยนักท่องเที่ยวจีนมักจะเข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยม ซึ่งเว็บไซต์เหล่านั้นเป็นโอกาสที่สินค้าจะเข้าไปโฆษณา สร้างการรับรู้แบรนด์ สื่อสารเรื่องโปรโมชั่นไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้”

 

ขณะที่นายเวนดี้ หวัง รองประธาน บริษัท แมดเฮาส์ ดิจิทัลเอเยนซี่รายใหญ่ของจีน กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเองมีพฤติกรรมต่างจากกรุ๊ปทัวร์ ทั้งด้านกำลังซื้อที่สูงกว่า การหาข้อมูลก่อนการเดินทาง ตลอดจนนิยมซื้อของในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งห้างและร้านค้าที่จะสื่อสารไปยังคนกลุ่มนี้ผ่านทางออนไลน์และโซเชียล

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวด้านการใช้สื่อและโซเชียล เนื่องจากจีนใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเอง อย่าง WeChat และไม่สามารถลงโฆษณากับกูเกิลได้ ซึ่งปัจจุบันในจีนมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับทำการตลาดหลายรายรวมถึงแมดเฮาส์เองด้วย

 

“นักท่องเที่ยวจีนเริ่มให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากขึ้น การสื่อสารของแบรนด์จึงต้องปรับตัวตาม ด้วยการชูเรื่องราวของตัวสินค้า-บริการ รวมถึงผลจากการใช้งานจากเดิมที่เน้นราคาเป็นหลัก เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวจีนมีกำลังซื้อสูง พร้อมใช้จ่ายกับสินค้าและบริการที่ถูกใจ”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสินค้าไทยหลายแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีน ก็จัดกิจกรรมพิเศษเป็นระยะ ๆ เพื่อรับโอกาสดังกล่าว เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ที่ทำแพ็กเกจจิ้งลวดลายพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสการขายในกลุ่มนักท่องเที่ยว, เลย์ หรือเถ้าแก่น้อย ก็เคยทำโปรโมชั่นแจกของพรีเมี่ยมเมื่อซื้อสินค้าครบตามกำหนด หรือบางแบรนด์ก็ต่อยอดเปิดร้านค้าปลีกของตัวเอง เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ เช่น ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ของเถ้าแก่น้อย ร้านโก๋ช็อปของโก๋แก่

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์