bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา ฉบับพิเศษเพิ่มเติมในวันที่ ๑ ก.ค.๖๑ : ถ้อยแถลงของ นายหลู่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย

ถ้อยแถลงของ นายหลู่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๓ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (วันที่ ๑ ก.ค. ๑๘) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

๑. นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ ได้เป็นพยานประจักษ์การเจริญก้าวหน้าของทั้งสองประเทศ ประเทศจีนได้เดินทางอย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามแนวทางการปฏิรูป เปิดประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีน ทำให้ประเทศจีนมีความเจริญก้าวหน้า จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ ๒ ของโลก และประเทศอุตสาหกรรมอันดับ ๑ ของโลก ทำให้ประชากรกว่า ๗๐๐ ล้านคนพ้นจากความยากจน มีสัดส่วนในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ ๓๐ ติดต่อกันมาหลายปี ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิจการสันติภาพและการพัฒนาของมนุษยชาติ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็พยายามค้นหาแนวทางพัฒนาที่เหมาะกับสถานการณ์ของไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ ๒ ในอาเซียน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “สี่เสือแห่งเอเชีย”

๒. ในขณะที่ทั้งสองประเทศต่างพัฒนาก้าวหน้า ไปพร้อมๆกัน ความร่วมมือฉันมิตรรอบด้านระหว่างจีน-ไทยก็พัฒนาอย่างงดงาม ทางด้านการเมืองมีความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรมมีความสนิทสนมมากยิ่งขึ้น การเยือนของผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศบ่อยครั้ง เสมือนการเยี่ยมญาติ ผู้นำประเทศจีนจำนวนมากเคยเยือนประเทศไทย พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จเยือนจีน ผู้นำรัฐบาล รัฐสภา ทางทหารเยือนจีนหลายครั้งได้ชี้แนะและผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี

๓. จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่สุดของไทยติดต่อกันมา ๕ ปี เป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ3 ในบรรดาต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ ๓ ในอาเซียนของจีน โครงการความร่วมมือรถไฟจีน-ไทยระยะที่ ๑ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของการเชื่อมโยงในภูมิภาค บริษัทจีนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีศักยภาพสูงและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และความรู้เป็นฐานมาลงทุนที่ไทยนับว่ายิ่งมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังใหม่แก่ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าจีน-ไทย

๔. ทั้งจีนและไทยอยู่ในโลกที่มีการพัฒนา การปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวง ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆนานา ลัทธิครองความเป็นเจ้าที่ยึดความเป็นใหญ่ยังคงดำรงอยู่ กระแสการต่อต้านการค้าเสรี การต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็มีการแสดงออกมาในรูปแบบใหม่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้เสนอการผลักดันการสร้างประชาคมร่วมอนาคตของมนุษยชาติที่ยึดพิทักษ์สันติภาพของโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน และผลักดันการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเสมอภาคและเป็นธรรม ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ที่จีนนำเสนอนั้น เน้นการเคารพสิทธิ์ของแต่ละประเทศในการตัดสินใจเลือกระบอบสังคมและเส้นทางของการพัฒนา เคารพผลประโยชน์หลักและประเด็นปัญหาสำคัญซึ่งกันและกัน

๕. ความร่วมมือฉันมิตรจีน-ไทย เป็นแบบอย่างที่ดีของการปฏิบัติตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ ตลอดระยะเวลา ๔๓ ปีที่ผ่านมาขอเพียงพวกเรายึดหลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือจีน-ไทยจะประสบความสำเร็จให้เราได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่องต่อไป
        ๕.๑ ข้อแรก ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานยุทธศาสตร์ ยืนหยัดสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาที่แต่ละประเทศตัดสินใจเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ผลักดันการประสานยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับไทยแลนด์ ๔.๐ ตลอดจนนโยบาย กฎหมาย และภาคปฏิบัติในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อความร่วมมือที่มีความลึกซึ้งและกว้างขวาง
        ๕.๒ ข้อที่สอง ต้องดำเนินความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยกระดับความร่วมมือทางด้านสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิมและส่งเสริมความร่วมมือสาขาใหม่ เช่นระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล การผลิตขั้นสูง พลังงานใหม่ เป็นต้น ผลักดันความร่วมมือรถไฟสร้างเสร็จโดยเร็วและนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนตามเส้นทางรถไฟ
        ๕.๓ ข้อที่สาม ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสังคม วัฒนธรรมรอบด้าน เราต้องดำเนินความร่วมมือทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการอบรมแก่บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่เน้นแบ่งปันความรู้ เทคโนโลยีทางด้านรถไฟ เศรษฐกิจดิจิทัล วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แบ่งปันประสบการณ์ในการขจัดความยากจน การพัฒนาชนบท ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางด้านคลังสมอง สื่อมวลชน และเยาวชน
        ๕.๔ ข้อที่สี่ ต้องขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศไทยจะเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีหน้า ฝ่ายจีนยินดีสนับสนุนบทบาทของไทยอย่างเต็มกำลัง สนับสนุนสถานะความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค ยินดีร่วมมือกับฝ่ายไทยผลักดันการยกระดับคุณภาพของความร่วมมือจีน-อาเซียน ผลักดันความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงประสบความสำเร็จใหม่ และมีการประสานงาน ความร่วมมือในทางด้านธรรมาภิบาลโลก การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นต้น เป็นผู้นำของความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง และผลักดันการสร้างประชาคมที่ร่วมอนาคตของมนุษยชาติ

๖. จีนและไทยมีโอกาสที่ดีทางประวัติศาสตร์ ทั้งจีนและไทยสองประเทศต่างยืนในจุดเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าสถานการณ์โลกมีการแปรปรวนอย่างไรก็ตาม ขอเพียงทั้งสองฝ่ายเคียงบ่าเคียงไหล่ ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทยจะมีการพัฒนาสืบไป จะนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ ผลักดันให้ทั้งสองประเทศก้าวสู่ยุคใหม่ที่มีการพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.thairath.co.th/content/1323275

https://www.facebook.com/MatichonOnline/posts/10157601945092729

https://www.youtube.com/watch?v=ZAM3vAmmbAw