bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๓ ก.ค.๖๓ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงข่าวกรณี สถานการณ์โดยรวมในบริเวณเขตพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย เริ่มมีความผ่อนคลายลง

จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๑๓ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงข่าวกรณี สถานการณ์โดยรวมในบริเวณเขตพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย เริ่มมีความผ่อนคลายลง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. นายจ้าว ลี่เจียน (赵立坚  Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน (中国外交部发言人) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๙ ก.ค.๖๓ ว่า  
     ๑.๑ เมื่อเร็วๆ นี้ กองกำลังป้องกันชายแดนของทั้งจีนและอินเดียได้ยุติการเผชิญหน้าที่บริเวณหุบเขากัลวานและพื้นที่อื่น ๆ ในเขตชายแดนทางทิศตะวันตกระหว่างจีน-อินเดีย ตามความเห็นพ้องจากการเจรจาระดับผู้บัญชาการกองทัพระหว่างจีน-อินเดีย  
     ๑.๒ ทั้งสองฝ่ายจะรักษาให้มีการแลกเปลี่ยนและพูดคุยเจรจาทางทหารและการทูต รวมถึงจัดการเจรจาระดับผู้บัญชาการกองทัพรอบใหม่ อีกทั้งยังจัดประชุมกลไกปฏิบัติงานเพื่อหารือและประสานงานเกี่ยวกับกิจการชายแดน จึงหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากัน และใช้ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมตามความเห็นพ้องทุกประการระหว่างกันของสองฝ่าย รวมทั้งร่วมกันทำงานเพื่อค่อยๆ ลดความตึงเครียดในเขตชายแดนต่อไป
 
๒. ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีน-อินเดีย ผ่อนคลายลง
     ๒.๑ เมื่อค่ำวันที่ ๕ ก.ค.๖๓ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษจีนในปัญหาพรมแดนจีน-อินเดีย ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนาย Ajit Doval ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษอินเดียในปัญหาพรมแดนจีน-อินเดีย โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความเห็นพ้องกันทางบวกเกี่ยวกับการผ่อนคลายสถานการณ์ในเขตชายแดน ขณะที่นายหวัง อี้ กล่าวเน้นย้ำว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-อินเดีย ครบรอบ ๗๐ ปี ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นสิ่งที่ได้มาไม่ง่าย ดังนั้น การพัฒนาและฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรือง จึงเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของทั้งจีนและอินเดีย โดยทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระยะยาวในด้านนี้
     ๒.๒ ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างจีน-อินเดีย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้นำจีน-อินเดีย ได้พบปะกัน โดยเห็นร่วมกันในแนวทางการพัฒนามิตรสัมพันธ์และความร่วมมือว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพและปฏิบัติตาม “ความเห็นพ้องกัน” เมื่อเดือนเมษายน ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) และเดือนตุลาคม ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) กล่าวคือ (๑) ทั้งสองฝ่ายจะจัดปัญหาเขตชายแดนไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นข้อพิพาท (๒) ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า ต้องเคารพและปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงที่สองประเทศได้ลงนามกันแล้ว โดยใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ในเขตชายแดน (๓) ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่จะเสริมการแลกเปลี่ยนผ่านกลไกการประชุมผู้แทนพิเศษ ปรับปรุงและเสริมสร้างการสร้างมาตรการไว้เนื้อเชื่อใจกันในเขตพื้นที่ชายแดน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความสงบในเขตชายแดนอีกครั้ง และ (๔) ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้กองกำลังในแนวหน้าของทั้งสองประเทศยุติการเผชิญหน้ากันโดยเร็ว
 
บทสรุป
การที่จีน-อินเดียได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวหลังมีการแลกเปลี่ยนและหารือกันหลายครั้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและในระดับลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์เขตชายแดน โดยได้บรรลุความเห็นพ้องกันในทางบวก ขณะที่จีนยังคงแสดงจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน พร้อมทั้งท่าทีที่มุ่งมั่นต่อการรักษาสันติภาพและความสงบในพื้นที่เขตชายแดนร่วมกับอินเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการพูดคุยเจรจากัน และการเจรจาระหว่างจีน-อินเดียครั้งนี้ ทำให้สถานการณ์ในเขตชายแดนระหว่างสองประเทศผ่อนคลายลง อีกทั้งยังทำให้ทั้งสองฝ่ายมีกำลังใจมากขึ้นในการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ตลอดจนสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ทั้งนี้ จีน-อินเดีย เป็นเพื่อนบ้านที่แยกขาดจากกันไม่ได้ โดยทั้งสองประเทศต่างเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างกว้างขวางในการรักษาและส่งเสริมระเบียบโลกบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์