bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๓ ส.ค.๖๑ : ความเคลื่อนไหวของเขตปกครองตนเองซินเจียง

ความเคลื่อนไหวของเขตปกครองตนเองซินเจียงได้เร่งพัฒนาการคมนาคมและโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมเขตตะวันออกและตะวันตก โดยใช้เส้นทางถนนในซินเจียง ที่มีความยาวทั้งสิ้น ๑๘๖,๐๐๐ กิโลเมตร และเป็นทางด่วน ๔,๕๗๘ กิโลเมตร (ข้อมูล ณ ปลายปี ๒๐๑๗) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การเชื่อมเส้นทางดังกล่าวนี้เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ชิ้นหนึ่งของความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) หรือเส้นทางสายไหมทางบก ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ริเริ่มขึ้นในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมต่อผ่านไปยังภูมิภาคเอเชียกลางและเข้าสู่ยุโรป

๒. เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์นี้ ตั้งอยู่ชายแดนสุดทางตะวันตกของประเทศจีน มีพรมแดนติดต่อกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง เช่น รัสเซีย คาศัคสถาน คีรกิร์สถาน ทะจิสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน มีพื้นที่กว้างใหญ่ ๑,๖๖๔,๘๙๗ ตารางกิโลเมตร (เป็นสองเท่าของประเทศไทย) เป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อยอุยกูร์ ซึ่งเป็นมุสลิม โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน และแหล่งสำรองแร่ เป็นต้น ทั้งนี้ จีนได้ดำเนินการก่อสร้างถนนตัดผ่านทะเลทรายทากลามากัน (Taklamakan) ความยาวกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร เชื่อมต่ออำเภออี้ว์หลีกับอำเภอเฉี่ยโม่ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งในรายงานได้ระบุว่า ถนนสายใหม่ที่ตัดผ่านทะเลทรายทากลามากัน ซึ่งเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินจีน และมีฉายาว่า “ทะเลทรายแห่งความตาย” (The Sea of Death) นับเป็นถนนผ่านทะเลทรายสายที่ ๓ ของจีน

๓. ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปีที่แล้วรัฐบาลตั้งงบลงทุน ๑๗๐,๐๐๐ ล้านหยวน (ราว ๘๗๔,๒๗๖ ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างถนนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งทางภาคตะวันตกสุดของจีน โดยมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนจากเหตุความไม่สงบในเขตปกครองตนเองซินเจียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลจีนโทษว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามที่ต้องการแยกดินแดนก่อตั้งรัฐอิสระเรียกว่าเตอร์กีสถานตะวันออก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยอมรับว่าความไม่พอใจของประชาชนมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และได้จัดสรรเงินมาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว

๔. ข้อสังเกต ความสำคัญของเขตปกครองตนเองซินเจียงนอกจากการเป็นจุดยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในจากปัญหาชนชาติส่วนน้อยของจีนแล้ว ยังมีการค้นพบแหล่งถ่านหิน ดังนั้น การที่ทางการจีนเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้วิสาหกิจถ่านหินขนาดใหญ่หลายรายต่างทยอยเข้ามาลงทุนในเขตปกครองตนเองซินเจียง โดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งกระทะจุ่นตง (准东盆地) ซึ่งเป็นแหล่งถ่านหินที่อุดมสมบูรณ์ในซินเจียง ทั้งนี้ พื้นที่แอ่งกระทะจุ่นตงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่แอ่งกระทะจุ่นก๋าเอ่อร์ (准噶尔盆地) มีเนื้อที่ครอบคลุมอำเภอฉีไถและอำเภอจี๋มู่ซ่าเอ่อร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง จากการคาดการณ์ เชื่อว่ามีทรัพยากรถ่านหินประมาณ ๓.๙ แสนล้านตัน โดยในปัจจุบันมีปริมาณถ่านหินที่สำรวจพบแล้วสะสมรวม ๒.๑ แสนล้านตัน นับเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรถ่านหินที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะมีปริมาณถ่านหินสูงถึงตารางกิโลเมตรละ ๕๐ ล้านตัน นอกจากนี้ ระดับการฝังตัวของถ่านหินยังลึกจากพื้นดินไม่มาก เหมาะสำหรับการทำเหมืองถ่านหิน

บทสรุป

นอกจากการลงทุนสร้างถนนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์แล้ว ผู้อำนวยการคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาซินเจียง ได้ระบุว่า ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) จีนได้ลงทุนในการก่อสร้างทางรถไฟ ๘,๑๐๐ ล้านหยวน (ประมาณ ๔๑,๖๕๖ ล้านบาท) และโครงการการบินพลเรือน ๔,๘๐๐ ล้านหยวน (ประมาณ ๒๔,๖๘๕ ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น ๕๐% จากงบประมาณเมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) แล้ว โดยการก่อสร้างทางหลวงระยะทาง ๖,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่งหรือโลจิสติกส์ในภูมิภาคได้ถึง ๓๐% นับได้ว่า เขตปกครองตนเองซินเจียงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ของจีน และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของเส้นทางบกไปยังภูมิภาคเอเชียกลางและสู่ยุโรปต่อไปตามความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI อันส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.britannica.com/place/Xinjiang

https://mgronline.com/china/detail/9610000079234

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/736581

https://www.sanook.com/news/7075414