bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๔ พ.ค.๖๑ : รถขนส่งมวลชนแห่งอนาคต

มณฑลหูหนาน กำลังมีการทดลองเดินรถ “รถขนส่งมวลชนแห่งอนาคต” ที่ไม่ใช่ระบบลูกผสมหรือไฮบริด TEB (Transit Elevated Bus ) แต่เป็น ART (Autonomous Rail Rapid Transit) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ART เป็นคำย่อของ Autonomous Rail Rapid Transit ซึ่งเป็นยานพาหนะระบบไฮบริด หรือลูกผสมระหว่างรถไฟ-รถเมล์ แต่ไม่ได้แล่นบนราง มันวิ่งไปบนรางเสมือน (virtual rails) ซึ่งใช้ระบบเซนเซอร์กำหนดขอบเขต-มิติบนถนน โดยไม่มีตัวรางปรากฏให้เห็น ผู้คนทั่วไปจะเห็นยานพาหนะลูกผสมนี้ แล่นไปบนถนน จึงไม่รู้จะเรียกยานพาหนะลูกผสมนี้ว่า “รถไฟ-รถบัส” หรือ “รถบัส-รถไฟ” หรือ “รถบัสคันใหญ่” กันดี

๒. เมื่อปีที่แล้วกลุ่มสื่อจีนได้เรียกยานพาหนะลูกผสมรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ว่า “รถบัสระบบรางความเร็วอัจฉริยะ” คันแรกของโลก ขณะนี้ รถฯ ดังกล่าว ถูกเรียกให้ง่ายขึ้น คือ “รถบัสอัจฉริยะ” คันแรกของโลก ทั้งนี้ รถบัสอัจฉริยะนี้ พัฒนาโดยหน่วยวิจัยของ CRRC Zhuzhou Locomotive Co Ltd เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และมีการทดลองวิ่งบนรางระยะทางสั้นๆ ที่เมืองจูโจว มณฑลหูหนาน สำหรับการทดลองครั้งนี้ เป็นการทดลองเดินรถบนรางสาย A1 ระยะทางยาวกว่า (๓ ก.ม.) ในจูโจว ผู้โดยสารสแกน คิวอาร์ โค้ด รับตั๋วอิเลคทรอนิก

๓. บริษัทรถไฟจีน CRRC ได้เริ่มพัฒนา ART ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดอย่างมากในศูนย์กลางเขตเมือง นอกจากนี้ยังเป็นรถทางเลือกที่ราคาถูกกว่ารถไฟใต้ดิน หรือรถราง อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

๔. ข้อสังเกต
        ๔.๑ รถไฟรางเสมือนเป็นรถที่ผสมผสานระหว่างข้อดีของรถไฟกับรถประจำทางเข้าด้วยกัน มีระบบ ART ในการควบคุม และใช้ระบบเซ็นเซอร์ (ประกอบด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์) นำทางเดินรถ จึงวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาวโดยไม่พึ่งรางรถไฟ และภายในปี พ.ศ.๒๕๖๓ จะพัฒนาไปสู่ระบบไร้คนขับหรือขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์
        ๔.๒ ผู้เชี่ยวชาญของ CRRC ZELRI ได้เปรียบเทียบรถไฟรางเสมือนกับรถประจำทางว่า รถไฟรางเสมือนมีความคุ้มค่า เพราะมีอายุการใช้งานนานถึง ๓๐ ปี และเหมาะสำหรับเมืองใหญ่ที่มีปัญหาการจราจร ซึ่งสามารถขนคนได้จำนวนมาก สนนราคาตัวรถและการติดตั้งระบบต่าง ๆ ประมาณ ๓๐-๔๐ ล้านหยวน/กิโลเมตร (เฉพาะตัวรถประมาณ ๑๖ ล้านหยวน)

บทสรุป

จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบรางทั้งตัวรถไฟและอุปกรณ์รถไฟอย่างครบวงจร และมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนของตน อีกทั้งยังมุ่งส่งออกผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีรถไฟไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการพัฒนาการขนส่งระบบราง รวมถึงประเทศไทย เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ One Belt, One Road และนโยบาย “ก้าวออกไป” ลงทุนในต่างประเทศของจีน เมื่อผนวกเข้ากับศักยภาพของไทยบนความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โอกาสที่ไทยจะพัฒนาให้กลายเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าและอุปกรณ์รถไฟ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุง จึงมีความเป็นไปได้ แต่จะก้าวไปได้ถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีในการกำหนดทิศทางการรับ ปรับ และดูดซับเทคโนโลยีจากจีนอย่างมีระบบ เพื่อให้สามารถ ”พึ่งพาตนเอง” ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต และสำหรับเมืองขนาดเล็กหรือเมืองขนาดกลางที่ไม่สามารถทุ่มเงินสร้างระบบรถไฟใต้ดินได้ การสร้างรถโดยสารฯ พลังงานไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการสร้างเริ่มต้น ๗๕ ล้านบาท ต่อระยะทาง ๑ กิโลเมตร ในขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินมีค่าใช้จ่ายมากกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท จึงน่าจะเกิดความคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://mgronline.com/china/detail/9610000046097

https://www.posttoday.com/world/521818

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?