bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๖ ธ.ค.๖๒ ผลการประชุมงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๒ ธ.ค.๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ต้องดำเนินมาตรการขจัดความยากจนด้วยรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมและย้ายที่อยู่อาศัยจากถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่อง ควบคุมมาตรฐานของประชาชนที่พ้นจากความยากจน ทำให้ผลสำเร็จด้านการขจัดความยากจนที่มีอยู่แล้วดำเนินต่อไป นอกจากนี้ ต้องสร้างระบบเพื่อติดตามและช่วยเหลือประชาชนที่พ้นจากความยากจนแล้วกลับมายากจนอีก รวมถึงประชาชนผู้ยากจนรายใหม่ ทั้งนี้ เกณฑ์ที่เป็นเส้นแบ่งความยากจนของจีนหมายถึง ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ๒,๓๐๐ หยวน หรือประมาณ ๑๑,๕๐๐ บาท

๒. ต้องมุ่งไปสู่พื้นที่ยากจนของจีน อันได้แก่ เขตปกครองตนเองทิเบต ๔ แคว้น ที่อยู่ทางภาคใต้ของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง ชุมชนชาวทิเบตในมณฑลเสฉวน มณฑลหยุนหนาน(ยูนนาน) มณฑลกานซู่ และมณฑลชิงไห่ รวมทั้งแคว้นปกครองตนเองชนเผ่าหุยหลินเซี่ย มณฑลกานซู่ แคว้นปกครองตนเองชนเผ่าอี๋เหลียงซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และแคว้นปกครองตนเองชนเผ่าลีซูนู่เจียง มณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของจีน

๓. ตัวอย่างของความสำเร็จในพื้นที่ซึ่งมีความยากจน
        ๓.๑ เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค.๖๒ กรมไปรษณีย์แห่งชาติจีนประกาศว่า ได้เปิดสาขาในพื้นที่ยากจนเพิ่มขึ้น พร้อมยกระดับการบริการในพื้นที่ยากจน แสวงหารูปแบบช่วยขจัดความยากจนที่มีเป้าหมายเจาะจงอย่างแข็งขัน โดยครึ่งแรกของปีนี้ การไปรษณีย์และบริการส่งด่วนช่วยให้อำเภอยากจนระดับประเทศบรรลุยอดการจำหน่ายทางออนไลน์เป็นมูลค่า ๑๑๐,๐๐๐ ล้านหยวน โดยเพิ่มขึ้น ๒๙.๕% จากระยะเดียวกันของปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑)
        ๓.๒ เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ย.๖๒ “กลุ่มพันธมิตรอีคอมเมิร์ซช่วยบรรเทาความยากจน” ในจีนเปิดเผยว่า ปัจจุบันสมาชิก ๒๙ บริษัท ได้ช่วยจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าพิเศษของท้องถิ่นจากพื้นที่ยากจนในจีนมีมูลค่ากว่า ๒,๐๐๐ ล้านหยวน ทั้งนี้ “กลุ่มพันธมิตรอีคอมเมิร์ซช่วยบรรเทาความยากจน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ๖๑ จนถึงเวลานี้ กลุ่มดังกล่าวได้ช่วยเหลือวิสาหกิจจำนวน ๕๙๗ แห่งจาก ๒๐ มณฑลทั่วประเทศ ในการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าชนิดพิเศษของท้องถิ่นที่ได้มาตรฐาน โดยในจำนวนนี้ มีบริษัท ๑๐๒ แห่งได้รับบัตรรับรองคุณภาพสินค้า
       ๓.๓ หมู่บ้านเฮ่าคุน ในอำเภอหลิงหยูน เมืองไป่ซื่อ เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี เคยเป็นหมู่บ้านยากจนมาก โดยชาวบ้านที่นี่กว่าครึ่งอยู่ในสภาพยากจน และในปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) รัฐบาลท้องถิ่นอำเภอหลิงหยูน ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยเหตุที่พื้นที่ดังกล่าวมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามจึงใช้รูปแบบ “แหล่งท่องเที่ยว + รัฐบาลท้องถิ่น + ครอบครัวชาวนา” โดยจัดตั้งโครงการแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ในท้องถิ่น ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีข้อมูลเชิงสถิติปรากฏว่า ระหว่างเดือน ม.ค. – ต.ค.๖๒ ที่ผ่านมาใน เขตท่องเที่ยวเฮ่าคุน รองรับนักท่องเที่ยวกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน มีการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวรวมประมาณ ๑๔๒ ล้านหยวน ปัจจุบัน หมู่บ้านเฮาคุนมีครอบครัวชาวนา ๑๕๒ ครัวเรือน รวม ๗๐๙ คน พ้นจากความยากจน และทำให้อัตราความยากจนในหมู่บ้านลดลงเหลือ ๑๓.๑%

๔. ข้อสังเกต จากสถิติของภาครัฐจีนในปลายปี ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) ประชากรที่ยากจนมีจำนวน ๗๗๐ ล้านคนทั่วประเทศ จนถึงปลายปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ประชากรที่ยากจนลดลงเหลือ ๓๐ ล้านคน จากการเปิดประเทศมา ๔๐ ปี ประชากรยากจนของจีนลดลงไป ๗๔๐ กว่าล้านคน นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จึงกล่าวกันว่าจีนมีบทบาทช่วยโลกลดจำนวนประชากรยากจนลดลงถึง ๗๐% โดยรัฐบาลจีนได้กำหนดระบบการจัดการขจัดความยากจน แบ่งเป็น ๖ ระบบย่อยคือ มาตรการ-ตั้งทีมงาน-ประเมิน-รับผิดชอบ-ปฎิบัติ-ติดตามและตรวจสอบ ควบคู่กับการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน ๘ แนวทางใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) นำอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย (๒) กระตุ้นการจ้างงาน (๓) การโยกย้ายประชากรออกจากพื้นที่ทุรกันดารที่ยากแก่การพัฒนา (๔) ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต (๕) ช่วยเหลือด้านการศึกษา (๖) การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย (๗) ช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม และ (๘) เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมุ่งให้การช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่ม โดยมีหน่วยงานดูแลและมีการสอดส่องและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และที่สำคัญคือ การช่วยเหลือคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกรอบ

บทสรุป
ข้อคิดที่สำคัญประการหนึ่งของจีนในการดำเนินมาตรการขจัดความยากจน นอกเหนือจากการจัดทำแฟ้มขัอมูลทุกครัวเรือนที่มีความยากจนทั่วประเทศแล้วคือ สนับสนุนบทบาทของรัฐบาลระดับท้องถิ่นด้วยการสร้างความร่วมมือกับประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นในรูปแบบการท่องเที่ยว จนสามารถทำให้พื้นที่พ้นจากความยากจนได้ดังกรณีของเมืองไป่ซื่อ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) หรือบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น ดังกรณีของมณฑลกานซู่ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนของมณฑลกานซู่ให้ทัดเทียมกับมณฑลอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น โดยในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีประชากรกว่า ๗๗๖,๐๐๐ คน ที่รัฐบาลมณฑลกานซู่ให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ และสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ และสามารถยกระดับรายได้ประชากรยากจนจากเดิม ๔,๘๐๐ หยวนต่อหัวเป็น ๕,๓๙๐ หยวน หรือเพิ่มขึ้น ๑๒.๓% เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20191213/9b343de6-e196-daaf-5a98-d8fa6ad7a557.html

https://mgronline.com/china/detail/9610000107276

https://globthailand.com/china-01082019/

http://thai.cri.cn/20191126/70099bb0-21fe-60a2-940d-c7c57e9ebdd7.html

http://thai.cri.cn/20191024/41bd4838-c04a-4c23-7947-89783f0d2af8.html

http://thai.cri.cn/20191125/411af6db-b2cc-debb-e09b-f96ffae83b67.html

http://www.vijaichina.com/articles/1317