bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๓ ก.ค.๖๑ : กรณีที่องค์การการค้าโลก (WTO) เสร็จสิ้นการพิจารณาตรวจสอบนโยบายการค้าของจีนครั้งที่ ๗ และท่าทีเชิงรุกของจีนในเวทีการค้าโลก

กรณีที่องค์การการค้าโลก (WTO) เสร็จสิ้นการพิจารณาตรวจสอบนโยบายการค้าของจีนครั้งที่ ๗ และท่าทีเชิงรุกของจีนในเวทีการค้าโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ ก.ค.๖๑ นายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน แถลงข่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๑ และ ๑๓ ก.ค.๖๑ การพิจารณาตรวจสอบนโยบายการค้าของจีนครั้งที่ ๗ โดยองค์การการค้าโลก (WTO) นั้น ได้สิ้นสุดลงแล้วที่กรุงเจนีวา โดยระหว่างการพิจารณาตรวจสอบ พบว่า
        ๑.๑ สมาชิกส่วนใหญ่ของ WTO ได้ให้การชื่นชมระดับสูงต่อนโยบาย แนวทางและผลสำเร็จด้านการพัฒนาของจีนในช่วงเวลาที่ทำการพิจารณาตรวจสอบ พร้อมชื่นชมจีนที่สร้างคุณูปการต่อระบบการค้าพหุภาคี และแสดงบทบาทผู้นำ
        ๑.๒ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า จีนช่วยรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ ผลักดันโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) และมีการจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้า ที่สร้างโอกาสการพัฒนาอันกว้างไกลให้กับสมาชิกองค์การการค้าโลก

๒. ท่าทีเชิงรุกของจีนในเวทีการค้าโลก
       ๒.๑ เมื่อวันที่ ๘ พ.ค.๖๑ นายจาง เซี่ยงเฉิน ตัวแทนจีนประจำ WTO) ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO ที่กรุงเจนีวา โดยให้เริ่มใช้ระบบการคัดเลือกสมาชิกคณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อให้องค์กรนี้สามารถฟื้นฟูการทำงานอย่างเป็นปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ องค์กรอุทธรณ์ถือเป็นศาลสูงสุดของ WTO รับผิดชอบพิพากษาตัดสินคดีขัดแย้งทางการค้า ประกอบด้วยสมาชิก ๗ คน แต่เนื่องจากสหรัฐฯ ขัดขวางกระบวนการคัดเลือกสมาชิกใหม่ ทำให้องค์กรนี้มีสมาชิกเพียง ๔ คนเท่านั้น
       ๒.๒ ในวันเดียวกัน (วันที่ ๘ พ.ค.๖๑) ในที่ประชุมคณะมนตรีของ WTO นายจาง เซี่ยงเฉิน ได้ประณามสหรัฐฯ ที่ควบคุมระบบการคัดเลือกสมาชิกองค์กร ใช้กลไกตัดสินของ WTO ตามอำเภอใจ และเน้นว่า การตัดสินขององค์กรอุทธรณ์มีบทบาทสำคัญในการประกันความเป็นเอกภาพและความเป็นไปได้ของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ WTO

๓. ข้อสังเกต ท่าทีเชิงรุกของจีนได้สอดรับกับความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ ๗ พ.ค.๖๑ ซึ่งนายโรเบอร์โต อาเซเวโด(Roberto Azevedo) ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO เร่งให้สมาชิกรับมือกับการท้าทายเชิงระบบ เช่น ความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น และการคัดเลือกสมาชิกองค์กรที่ถูกขัดขวางในการยื่นอุทธรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้ นายโรเบอร์โต อาเซเวโด ยังพูดในที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกรรมการการเจรจาการค้าของ WTO ว่า ถ้าหากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างหุ้นส่วนการค้าสำคัญยังคงดำเนินต่อไป ก็มีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่ากำลังรักษาการติดต่อกับสมาชิกที่เกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ใช้ท่าทีสุขุมรอบคอบ และขณะเดียวกัน สนับสนุนให้สมาชิกต่างๆ ใช้เวทีโลกทำงานแบบพหุภาคี และการเจรจาแบบทวิภาคีในการแก้ไขปัญหา

บทสรุป

จุดยืนของจีนที่ชัดเจนประการหนึ่งในเวทีการค้าโลกคือ การที่จีนตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประเทศสมาชิก WTO โดยมีการใช้มาตรการเปิดประเทศที่มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีในการส่งเสริมเสรีภาพด้านการค้า แต่จีนก็ได้แสดงท่าทีเชิงรุกในเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะการเรียกร้องให้เริ่มใช้ระบบการคัดเลือกสมาชิกคณะกรรมการด้านการระงับข้อพิพาทของ WTO ในองค์กรอุทธรณ์ซึ่งถือเป็นศาลสูงสุดของ WTO แต่ถูกสหรัฐฯ ขัดขวางกระบวนการคัดเลือกสมาชิกใหม่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการประกันความเป็นเอกภาพและความเป็นไปได้ของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ WTO

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.wto.org/english/tratop_e/tpr_e/tp475_e.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/07/20/62s269211.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/05/09/123s266971.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/05/08/123s266939.htm

https://www.waonews.com/news/17754-China_s_representative_to_WTO_U_S_aluminum_tariff_is_not_related_to_national_security.html

https://www.caixinglobal.com/2018-07-19/opinion-why-china-hasnt-broken-wto-rules-101306467.html