bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๕ ก.พ.๖๒ : กรณีที่จีนต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ชนบท และเกษตรกร

กรณีที่จีนต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ชนบท และเกษตรกร ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ ก.พ.๖๒ ได้มีประกาศเรื่อง “แนวทางหลายประการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนว่าด้วยการยืนหยัดพัฒนาการเกษตรและชนบทสำคัญเป็นอันดับแรก และดำเนินงานการเกษตร ชนบท และเกษตรกรด้วยดี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเอกสารนโยบายฉบับแรก หรือ “เอกสารส่วนกลางหมายเลข ๑” ของปีนี้ โดยแสดงให้เห็นว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญกับเรื่องการเกษตร ชนบท และเกษตรกรมาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากจีนมีพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียง ๑๐% ของโลกเท่านั้น แต่ต้องเลี้ยงประชากรราว ๒๐% ของโลก ความมั่นคงด้านธัญญาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก โดยเฉพาะการเน้นย้ำในการเสริมความมั่นคงด้านอาหาร และลงลึกการปฏิรูปจากแง่อุปทานของภาคการเกษตร

๒. หากย้อนไปดูแผนปฏิบัติการของรัฐบาลจีนที่ผ่านมา พบว่าได้เน้นการปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ
        ๒.๑ เมื่อต้นปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศต่อคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า จะผลักดันการปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ของจีน โดยจะทำให้ภาคเกษตรของจีนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโตตัวใหม่ของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเตรียมทุ่มเงินประมาณ ๔๕๐ พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ ๑๖ ล้านล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อพัฒนาการเกษตร เพื่อนำมาใช้ปฏิรูปการเกษตรของจีนให้ทันสมัย ภายใน ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และได้ออกแผนปฏิบัติการปฏิรูปเกษตรกรรมนำสมัย ตั้งแต่ปี ๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) มีเนื้อหาสาระประกอบด้วย
                ๒.๑.๑ เน้นสร้างนวัตกรรมในภาคเกษตร ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับภาคเกษตร ปฏิรูปการผลิตตั้งแต่ระดับไร่นา
                ๒.๑.๒ สนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพทางด้านเกษตร ผู้ประกอบการใหม่ ส่งเสริมชาวชนบท เกษตรกร ให้สามารถทำธุรกิจได้
                ๒.๑.๓ เน้นเพิ่มคุณภาพผลผลิต ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตร ส่งเสริมเครื่องมือแก่ชาวไร่ชาวนา
                ๒.๑.๔ จะต้องมีไร่นาคุณภาพ ๕๓ ล้านเฮกตาร์ หรือ ๓๓๑ ล้านไร่ ภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)
                ๒.๑.๕ ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีแก่เกษตรกร รวมถึงเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
                ๒.๑.๖ การันตีพื้นที่เกษตรกรรมจะต้องไม่หดตัวต่ำกว่า ๑๒๐ ล้านเฮกตาร์ หรือ ๗๕๐ ล้านไร่
                ๒.๑.๗ เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำ โดยเฉพาะต้องรักษาระดับน้ำใต้ดิน
                ๒.๑.๘ ภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) จะต้องมีป่าไม้ ๒๓% โดยเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมกลับไปเป็นป่าไม้
        ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. ปี ค.ศ.๒๐๐๙ (พ.ศ.๒๕๕๒) รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้ “ข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการเสริมสร้างงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเกษตรและนโยบายการเร่งผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นของคณะกรรมการกลางพรรคและสำนักนายกรัฐมนตรีจีน” มีเนื้อหาสาระประกอบด้วย
                ๒.๒.๑ เร่งรัดการสร้างกลไกที่มีบทบาทในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรในระยะยาว
                ๒.๒.๒ สร้างหลักประกันให้แก่การตอบสนองขั้นพื้นฐานของผลผลิตการเกษตรที่สำคัญอย่างจริงจัง
                ๒.๒.๓ เน้นการดำเนินงานด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
                ๒.๒.๔ เสริมสร้างกลไกสนับสนุนพื้นฐานให้แก่ระบบเทคโนโลยีทางเกษตรและการบริการทางเกษตร
                ๒.๒.๕ ยกระดับการบริการสังคมพื้นฐานในชุมชนชนบท
                ๒.๒.๖ พัฒนาระบบการบริหารพื้นฐานของชนบทให้มีเสถียรภาพและสมบูรณ์รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปชนบทให้มีความเข้มข้นต่อไป
                ๒.๒.๗ ผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานระดับรากฐานในชนบทอย่างจริงจัง
                ๒.๒.๘ เสริมสร้างและปรับปรุงบทบาทการนำที่มีต่องานด้าน “๓ เกษตร” ของพรรคให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
        ๒.๓ การประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนวาระที่สาม สมัยประชุมที่ ๑๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐบาลจีนประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยมีแนวทางหลัก ได้แก่
                ๒.๓.๑ การปฏิรูปสิทธิในที่ดิน ซึ่งอาจเปิดทางให้เกษตรกรซื้อขาย จำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้ ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของภาคเกษตร (เกษตรกรควรจะมีสิทธิในที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเขาร่วมกันปกป้องที่ดิน เและบุกเบิกที่ดินใหม่ๆเพิ่มขึ้น)
                ๒.๓.๒ เพิ่มพื้นที่การเกษตร โดยจะมีการจัดแบ่งเขตอนุรักษ์และเขตพื้นที่ใช้งานการเกษตรให้ชัดเจน รวมทั้งจัดวางระบบจัดการที่ดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                ๒.๓.๓ รัฐบาลจะลงทุนภาคการเกษตรมากขึ้น ให้เงินอุดหนุนเกษตรกร ยกระดับราคาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างระบบเกษตรอุตสาหกรรม
                ๒.๓.๔ สร้างระบบการเงินเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร โดยทางการจีนตั้งเป้าจะเพิ่มธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้มีไม่น้อยกว่า ๑๐๐ แห่งภายในสิ้นปี ๒๐๐๘ (โดยเมื่อเดือน ส.ค.๕๑ มีทั้งสิ้น ๖๑ แห่ง) ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเงินกู้ได้มากขึ้น

บทสรุป

แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ชนบท และเกษตรกร ในเอกสารหมายเลข ๑ ดังกล่าว โดยเสนอว่า ต้องขยายการนำเข้าผลิตผลการเกษตรที่ขาดแคลนในประเทศ ด้วยการขยายช่องทางนำเข้าด้วยหลายรูปแบบ ซึ่งแสดงว่าจีนจะขยายการนำเข้าทางการเกษตร โดยเฉพาะผลิตผลการเกษตรที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อความต้องการในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพและราคารวมทั้งกำลังความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดจีน

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://english.cctv.com/program/chinatoday/20100201/100953.shtml 

http://thai.cri.cn/20190221/8bfba915-6246-5973-7981-73fcf9553718.html 

http://smart-farm.blogspot.com/2017/02/16.html 

http://www2.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000121703

http://thaisocialist.com/China%20Education/China_Education/cin_suksa/Entries/2011/10/13_mxng_karkestr_cin_phan_xeksar_hmaylekh_1.html