bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มี.ค.๖๓ แนวทางของจีนในการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โรคอย่างจริงจัง รวมทั้งเสริมงานป้องกันและควบคุมโรคตามการเปลี่ยนแปลงของโรค

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มี.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางของจีนในการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โรคอย่างจริงจัง รวมทั้งเสริมงานป้องกันและควบคุมโรคตามการเปลี่ยนแปลงของโรค ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง ในฐานะสมาชิกถาวรกรมการเมืองกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะผู้นำกลางการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ได้จัดการประชุมคณะผู้นำกลางฯ ที่กรุงปักกิ่ง โดยชี้ให้เห็นว่า
    ๑.๑ ต้องปฏิบัติตามคำชี้นำสำคัญของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการวางแผนของคณะผู้นำกลางการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โรคอย่างจริงจัง
     ๑.๒ เสริมงานป้องกันและควบคุมโรคตามการเปลี่ยนแปลงของโรค โดยป้องกันและควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าออกระหว่างประเทศอย่างแม่นยำ
     ๑.๓ เร่งฟื้นฟูการทำงานและการผลิตให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างรอบด้าน และฟื้นฟูระเบียบทางสังคมให้เป็นปกติ
     ๑.๔ ต้องให้ความสำคัญในการดูแลกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และทำงานป้องกันและควบคุมต่อเนื่องอย่างเป็นระบบต่อไป

๒. คำชี้นำสำคัญของนายสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน ซึ่งได้เน้นย้ำว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคภัย หากไม่มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแล้ว มนุษย์คงไม่สามารถเอาชนะภัยพิบัติและโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ ดังนั้น ต้องดำเนินการในด้านต่างๆ คือ
     ๒.๑ ต้องเสริมการประสานการวิจัยพัฒนายารักษาโรค อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และการรักษาผู้ป่วยทางคลินิก โดยการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้มากขึ้นอย่างสุดความสามารถ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่เร่งด่วนที่สุดและสำคัญที่สุดในขณะนี้  
    ๒.๒ ต้องเร่งกระบวนการวิจัยพัฒนายารักษาโรค ยืนหยัดในการผสมผสานการแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบัน และการใช้ยาทั้งสองแบบควบคู่กันไป  
    ๒.๓ วัคซีนมีความสำคัญยิ่งในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งความปลอดภัยของวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในอันดับแรก ต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน ในขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามความคืบหน้าในการวิจัยพัฒนาวัคซีนของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด  
    ๒.๔ ต้องประสานการวิจัยแหล่งที่มาและเส้นทางการแพร่ระบาดของไวรัส  เพื่อความกระจ่างว่าไวรัสมีที่มาจากไหน และแพร่ไปทางใด
    ๒.๕ ต้องเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยโควิด-๑๙ และประชาชนที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังอาการ ซึ่งการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยต้องใช้เวลา และประชาชนที่เฝ้าระวังอาการที่บ้านเป็นเวลานานอาจมีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนคนในครอบครัวของผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็ต้องได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจเช่นกัน
     ๒.๖ ต้องถือความปลอดภัยด้านชีวภาพเป็นส่วนประกอบสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ  
     ๒.๗ ต้องเสริมสร้างระบบและความสามารถในการป้องกัน การควบคุมโรคระบาด และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางสาธารณสุข  
     ๒.๘ ต้องยืนหยัดในการรณรงค์ให้ประชาชนทำความสะอาด เพื่อสุขอนามัย รวมถึงดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขจัดวิถีปฏิบัติที่ไม่ดีให้หมดไป  เช่น การบริโภคสัตว์ป่า    
     ๒.๙ ต้องส่งเสริมและสนับสนุนวิถีชีวิตที่มีอารยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
     ๒.๑๐ ต้องเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขถือเป็นความท้าทายร่วมกันของมนุษยชาติ ทุกประเทศต้องร่วมกันรับมือกับการท้าทายนี้ ขณะนี้ หลายประเทศมีการระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงต้องส่งเสริมการติดต่อแลกเปลี่ยนกับองค์การอนามัยโลก และดำเนินความร่วมมือ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการระบาดรุนแรง ในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการหาแหล่งที่มาของไวรัส ยารักษาโรค วัคซีน และการตรวจโรค

บทสรุป

แนวทางในการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ดังกล่าว ได้มีการขับเคลื่อนและกำกับดูแลในทุกพื้นที่ เช่น ที่กรุงปักกิ่ง นับตั้งแต่ ๐๐.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ มี.ค.๖๓ ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ มายังกรุงปักกิ่ง จะต้องถูกส่งไปยังสถานที่ที่จัดไว้ เพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ โดยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในสถานที่ดังกล่าวจะตรวจสุขภาพของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน นอกจากนั้น ทางการปักกิ่งได้ออกมาตรการอนุมัติให้ผู้ส่งพัสดุด่วนเข้าไปในเขตชุมชนเพื่อส่งพัสดุและอาหารแบบไม่สัมผัส ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อเสริมงานป้องกันควบคุมโรค และประกันให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูการทำงานและการผลิตกลับสู่ภาวะปกติอย่างเป็นระบบ (ซึ่งมี ๑๐ ประการ โดยคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปกรุงปักกิ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒๕ หน่วยงานร่วมกันประเมินและกำหนดขึ้น) เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://www.chinaembassy.or.th/eng/zgyw/t1756888.htm

http://thai.cri.cn/20200317/ad2e52e0-b534-e5b8-fd7c-35ac43de89da.html

http://thai.cri.cn/20200316/614ee2b7-5106-b80d-a9b2-4ab3cbaa475f.html

http://thai.cri.cn/20200317/f888e1e9-c72f-efd1-12a6-cfe7a655bc89.html

http://thai.cri.cn/20200316/4033e6ea-2b28-2b83-c757-5fcdddedeb89.html

http://thai.cri.cn/20200304/b0e4c647-50a5-5c55-dd68-1b55f64da42c.html 

https://twitter.com/xhnews