bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒ ม.ค.๖๓ การประกันสุขภาพและการรักษาพยาบาลของจีน

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประกันสุขภาพและการรักษาพยาบาลของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. รัฐบาลจีนได้ประกาศรายชื่อยาในแผนประกันสุขภาพฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๖๓ ทำให้ราคายาหลายประเภทลดลงอย่างมาก คิดเป็นอัตรา ๖๐.๗% และได้เพิ่มยาใหม่ ๗๐ ชนิด ในจำนวนนี้ ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ๓ ชนิด มีอยู่ในรายชื่อครั้งแรก ซึ่งยาดังกล่าวให้การรักษาครอบคลุมผู้ติดไวรัสตับอักเสบซีทุกประเภท และยกระดับผลการรักษาของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี จำนวนเกือบ ๑๐ ล้านคนของจีน ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่มีผู้ติดไวรัสตับอักเสบซีมากที่สุดของโลก การลดราคายาดังกล่าวเหล่านี้ เป็นการลดภาระของผู้ป่วย และช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายที่ขจัดไวรัสตับอักเสบซี ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)

๒. ในด้านการรักษาพยาบาล รัฐบาลจีนมีโครงการบำรุงสุขภาพและรักษาพยาบาลของเด็กกำพร้าที่ชื่อว่า “โครงการเพื่อวันพรุ่งนี้” ได้ขยายขอบเขตการบริการจากเด็กกำพร้าในองค์กรสวัสดิการสังคม สู่เด็กกำพร้าในสังคม และนักเรียนวัย ๑๘ ปีขึ้นไปที่ไม่มีผู้ปกครอง พร้อมเพิ่มเพดานเงินอุดหนุน นอกจากนี้แล้ว เขตบริหารระดับมณฑลบางเขตของจีนพยายามขยายขอบเขตการดูแลของ “โครงการเพื่อวันพรุ่งนี้” สู่กลุ่มเด็กป่วยและพิการในครอบครัวยากจนอีกด้วย ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๖๓ เป็นต้นไป ระบบการประกันแห่งชาติของจีนจะเริ่มดูแลเด็กเร่ร่อนในจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นสวัสดิการใหม่สำหรับเด็กเร่รอนในจีน และจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อเด็กเหล่านี้ที่มีอยู่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน โดยในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) การคลังส่วนกลางของจีนจัดสรรเงินอุดหนุนแก่เด็กกำพร้าทั้งในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก จากเดิมตามมาตรฐานคนละ ๒๐๐ , ๓๐๐  และ ๔๐๐ หยวนต่อเดือนตามลำดับ เพิ่มเป็นคนละ ๓๐๐ หยวน ๔๕๐ หยวน และ ๖๐๐ หยวนทุกเดือนตามลำดับ

บทสรุป

จากรายงานทางด้านสาธารณสุขของจีน พบว่า รัฐบาลจีนได้ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมชาวเมืองและชาวชนบท รวมทั้งได้สร้างระบบยาสามัญประจำบ้านแห่งชาติในเบื้องต้น ซึ่งสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัยและมีผลในการป้องกันและรักษาโรคได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ได้มีการเสริมสร้างระบบบริการการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขในท้องถิ่นทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทให้สมบูรณ์ขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบบริการสาธารณสุขมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะโรคร้ายแรงบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมได้รับการควบคุม เป็นต้น (สำหรับประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕)

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.who.int/healthpromotion/conferences/9gchp/healthy-china/en/ 

http://thai.cri.cn/20191230/dfc859ff-3289-d74e-777b-e1f48c912439.html 

http://thai.cri.cn/20191230/9828e1db-d1b7-7bbc-4b35-d9f6c0ee39fb.html 

http://www.xinhuanet.com/english/2019-06/08/c_138126344.htm