bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มี.ค.๖๒ : แนวทางการพัฒนาประเทศจากการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน

แนวทางการพัฒนาประเทศจากการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๕ มี.ค.๖๒ ที่กรุงปักกิ่ง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้พบปะสนทนากับผู้แทนต่างชาติที่เข้าร่วมประชุมฟอรั่มการพัฒนาแห่งประเทศจีน ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของสภารัฐกิจแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อหลักว่า “ยืนหยัดการขยายการเปิดประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อชัยชนะร่วมกัน” โดยมีผู้แทนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด ๕๐๐ อันดับแรกของโลก องค์กรวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และผู้รับผิดชอบจากองค์การระหว่างประเทศกว่าร้อยคนเข้าร่วมการสนทนาครั้งนี้ เช่น นายไดย์เตอร์ เซ็ตเชอ ประธานบอร์ดบริษัท Daimler AG นางจินนี่ โรเม็ตตี้ ประธานบริษัท IBM นายฮารัล ครูเจอร์ ประธานบริษัท BMW นายณอง-เซบาสเตียน จาคส์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Rio Tinto Group และนายอัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Pfizer เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จีนยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ผลสำเร็จอันใหญ่หลวงของจีนในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมานั้น มาจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยประตูแห่งการเปิดประเทศของจีนมีแต่จะเปิดกว้างยิ่งขึ้นต่อไป

๒. สรุปแนวทางการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน
        ๒.๑ การปฏิรูปภายใต้ยุคสมัยของ นายเติ้ง เสี่ยวผิง (พ.ศ.๒๕๒๑ – ๒๕๓๕) ซึ่งเป็นผู้นำจีนรุ่น ๒ ต่อจากเหมา เจ๋อตง ผู้จีนรุ่น ๑ โดยในภาพรวมเป็นการปฏิรูปเพื่อนำกลไกตลาดมาปรับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงระบบวางแผนทางเศรษฐกิจ หรือ การปฏิรูปแบบ "รางคู่" สำหรับนโยบายการปฏิรูปที่สำคัญ ได้แก่ การนำระบบcontract responsibility มาใช้ในภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการอนุญาตให้เกษตรกรและรัฐวิสาหกิจนำผลผลิตส่วนเกินจากโควตาที่ต้องส่งให้รัฐไปขายในราคาตลาด เช่น นโยบาย“เปลี่ยนกำไรให้เป็นภาษี”รัฐบาลจีนได้ยกเว้นการส่งมอบกำไรของรัฐวิสาหกิจที่เดิมต้องส่งคืนให้รัฐทั้งหมด โดยหันมาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถนำกำไรที่เหลือจากเสียภาษีไปลงทุนต่อยอดได้ รวมทั้งอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทเอกชนที่มีพนักงานไม่เกิน ๘ คน และให้เกษตรกรสามารถเข้ามาทำงานในเขตเมือง เป็นต้น สำหรับนโยบายเปิดประเทศ ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๔ แห่งในปี พ.ศ.๒๕๒๒ (เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองซ่านโถว (คนไทยเรียกว่า ซัวเถา) ในมณฑลกว่างตงหรือกวางตุ้ง และเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน) ซึ่งต่อมาได้เพิ่มแห่งที่ ๕ คือ มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ)
        ๒.๒ การปฏิรูปภายใต้ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน และนายกรัฐมนตรี จู หรงจี (พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๔๖) ซึ่งรัฐบาลได้อนุญาตการแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้อย่างเสรีในการซื้อขายสินค้าและบริการ (full current account convertibility) แต่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีในการลงทุน และจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการพัฒนาภาคตะวันตก ปฏิรูประบบภาษีและภาคการธนาคาร รวมทั้งปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
        ๒.๓ การปฏิรูปภายใต้ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า (พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๕๖) โดยมีหัวใจของการปฏิรูป คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพิงการลงทุนและการส่งออก และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางสังคม การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สำหรับนโยบายสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้อุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ๗ สาขาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจจีนในอนาคตตลอดจนการสร้างระบบสวัสดิการเช่น การสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ยากไร้การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี
        ๒.๔ การปฏิรูปภายใต้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง (พ.ศ.๒๕๕๖ – ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่ ๕ ของจีนได้ประกาศทิศทางในการปฏิรูปในเอกสารผลลัพธ์การประชุมเต็มคณะครั้งที่ ๓ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ ๑๘ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมในแผนแม่บท ๖๐ ข้อ ที่ประกาศเมื่อเดือนพ.ย.๕๖ ได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการ ภาคการเงิน ภาคพลังงาน และภาคการผลิตอื่น ๆ ที่เคยกีดกันการลงทุนจากภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราที่สูงกว่าเดิม การทบทวนนโยบายลูกคนเดียว การปฏิรูประบบการคลังและโครงสร้างภาษีเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น การปฏิรูปที่ดินในเขตชนบทและการพัฒนารวมทั้งขยายเขตเมือง การเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยผ่อนปรนการควบคุมราคาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมหนักต้องแบกรับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและให้ผลงานการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น

บทสรุป

ในภาพรวมของแผนงานการปฏิรูปดังกล่าว บ่งชี้ว่าแนวทางในการปฏิรูปของรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลชุดก่อนมากนัก โดยยังคงเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเพิ่มบทบาทกลไกตลาด โดยลดการแทรกแซงจากภาครัฐและการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเปิดเสรีบริเวณพรมแดนทางบกและการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการพัฒนาเขตเมือง

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://news.cgtn.com/news/3d3d514d78456a4e33457a6333566d54/index.html 

http://thai.cri.cn/20190326/bb085aad-5665-e37d-6cf7-78c0d93691b0.html 

http://www.eastasiawatch.in.th/th/articles/miscellaneous/118/ 

http://thai.cri.cn/20190326/cad2db61-9acf-711f-174d-9190365885b1.html