bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ม.ค.๖๒ : การใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน

การใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค.๖๒ สำนักงานสารนิเทศ คณะรัฐมนตรีจีนจัดการประชุมแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน โดยนายจาง เยี่ยนเซิง (Zhang Yansheng) หัวหน้านักวิจัยของศูนย์แลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน (China Center for International Economic Exchanges) กล่าวว่า แม้การเติบโตของ GDP จีนจะชะลอตัวลง แต่พลังงานขับเคลื่อนเดิมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานขับเคลื่อนใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงผลสำเร็จด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังงานขับเคลื่อนใหม่ต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจจีน ซึ่งข้อมูลสถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแสดงให้เห็นว่า ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของจีนเติบโต ๖.๖% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และได้บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยในภาพรวมเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มการพัฒนาที่ก้าวหน้าบนพื้นฐานที่มั่นคง

๒. รูปธรรมของการใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน อาทิ
        ๒.๑ เมื่อวันที่ ๒๔ ม.ค.๖๒ จีนได้ประสบความสำเร็จในการผลิตรถขุดแร่ไฟฟ้าไร้คนขับคันแรก โดยมีความยาว ๑๐ เมตร กว้าง ๕.๕ เมตร สูง ๕.๗ เมตร รับน้ำหนักได้สูงถึง ๑๑๐ ตัน ซึ่งจะที่ใช้เทคโนโลยีควบคุมระยะไกลขณะที่อยู่ในเหมือง ทำให้รถคันนี้สามารถเคลื่อนไหว ถอยเข้าไปยังตำแหน่งจอดขุดอย่างอัตโนมัติ รวมทั้งหลบหลีกอุปสรรคด้วยตนเองได้อย่างคล่องแคล่ว แม่นยำ อันเป็นการนำเอาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาใช้งานในเหมือง และนับเป็นประเทศที่สามในโลก รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
        ๒.๒ กลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านการบินอวกาศแห่งชาติจีนได้ประกาศรายงาน “หนังสือปกน้ำเงินว่าด้วยกิจการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านการบินอวกาศจีน” ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค.๖๒ ระบุว่า ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โครงการการบินอวกาศของจีนทำการยิงส่งดาวเทียมและยานอวกาศเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๙ ครั้ง คิดเป็นกว่า ๑ ใน ๓ ของทั่วโลก และได้ส่งผลต่อความคืบหน้าด้านการบินอวกาศเชิงพาณิชย์
        ๒.๓ การใช้รถไฟขนส่งผู้โดยสารที่จะเชื่อมตัวกรุงปักกิ่งกับสถานบินใหม่ โดยควบคุมด้วยเทคโนโลยีไร้คนขับจากระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความเร็วสูงสุด ๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ขบวนรถไฟสายสนามบินใหม่จะแบ่งเป็นตู้ธรรมดากับ business class และทุกขบวนจะมีตู้สัมภาระ ๑ ตู้ คาดว่าจะเปิดทดลองใช้งานในเดือน ก.ย.๖๒ นี้

บทสรุป

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นแกนหลักอย่างจริงจัง โดยเฉพาะที่เป็นทรัพยสินทางปัญญาทั้งด้านระบบสารสนเทศ การสื่อสาร การบินและการบินอวกาศ ตลอดจนรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น โดยล้วนส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ การที่จีนมีความคืบหน้าในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2019-01/30/c_137784838.htm 

http://thai.cri.cn/20190130/4d0bb3e6-2270-cf9b-88b3-1d4ed5639a60.html 

http://thai.cri.cn/20190130/93b2772a-b83d-2c0c-8587-ddaea69938c5.html 

http://thai.cri.cn/20190130/24572cd3-6fbe-ec7f-dcf3-c830746ef04a.html 

http://thai.cri.cn/20190127/f5054a52-a36a-8771-917b-e210db8f82d6.html