bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๘ มี.ค.๖๓ การประกาศสถิติโดยรวมทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งมาตรการทางการเงินในการสนับสนุนการควบคุมโรคและงานฟื้นฟูการผลิต

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๘ มี.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประกาศสถิติโดยรวมทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งมาตรการทางการเงินในการสนับสนุนการควบคุมโรคและงานฟื้นฟูการผลิต ตลอดจนมาตรการในการสนับสนุนให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของทุนต่างชาติ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ได้ประกาศสถิติโดยรวมทางเศรษฐกิจของจีน เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค.๖๓ โดยระบุว่า
     ๑.๑ ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ.๖๓ เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ โดยได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างหนัก แต่เป็นผลกระทบในระยะสั้นและอยู่ในการขอบเขตที่ควบคุมได้ ซึ่งปัจจุบัน แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ในขณะที่รัฐบาลจีนได้สร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดำเนินไปด้วยดี รวมทั้งสังคมจีนยังมีเสถียรภาพ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
     ๑.๒ ช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลง คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๕ ขณะที่ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันโรคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนถึงวันที่ ๒๕ ก.พ.๖๓ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางมีอัตราการฟื้นฟูงานผลิต คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๖ และงานประกอบการต่างๆ กำลังได้รับการฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติอย่างเป็นระบบ

๒. มาตรการทางการเงินในการสนับสนุนการควบคุมโรคและงานฟื้นฟูการผลิตให้เป็นปกติ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค.๖๓ กลไกร่วมกันป้องกันและควบคุมโรคแห่งคณะรัฐมนตรีจีน ได้จัดการแถลงที่กรุงปักกิ่ง โดยนำเสนอมาตรการการเงินต่างๆ ในการสนับสนุนการควบคุมโรคและงานฟื้นฟูการผลิตให้เป็นปกติว่า  เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค.๖๓ ธนาคารประชาชนจีนจัดตั้งโครงการปล่อยเงินกู้เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาด จำนวน ๓ แสนล้านหยวน และจนถึงวันที่ ๑๓ มี.ค.๖๓ ธนาคารประชาชนจีนได้ปล่อยเงินกู้เฉพาะกิจ ๑๘๔,๐๐๐ ล้านหยวน ปัจจุบัน ความตึงเครียดของอุปทานด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่อุปทานด้านวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีความเพียงพอ และมาตรการที่ปล่อยเงินกู้เพิ่มเติมดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

๓. ส่วนมาตรการในการสนับสนุนให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ ในพื้นที่ต่างๆ ของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง ซึ่งยึดหลักการเปิดดำเนินการตามปกติควบคู่ไปกับการป้องกันโควิด-๑๙ โดยออกมาตรการต่างๆ ให้ทุกเขตและทุกหน่วยงานออกข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการจำนวน ๔๓ ข้อ พร้อมกับข้อชี้แจง ๓๓ ข้อ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้เปิดดำเนินการตามปกติทุกกระบวนการ ทั้งวัตถุดิบ แรงงาน การตลาด และการขนส่ง อันจะทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการออกมาตรการลดภาษี ลดค่าเช่า และให้เงินอุดหนุนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ วิสาหกิจภาคอุตสาหกรรมในกรุงปักกิ่งได้เปิดดำเนินการตามปกติแล้ว ๘๘% ส่วนอาคารที่ทำการสำคัญๆ ได้เปิดดำเนินการแล้ว ๙๒%

๔. สำหรับการออกมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของทุนต่างชาติ ให้กลับมาลงทุนในประเทศจีน โดยผู้ประกอบการทุนต่างชาติส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานและฟื้นฟูการผลิต เช่น ที่เมืองเซินเจิ้น มีบริษัทของญี่ปุ่นชื่อ โยชิดะซิป (เซินเจิ้น) จำกัด (YKK - Yoshida Kogyo Kabushibibaisha) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ ๔๕ ของตลาดซิปทั่วโลก ได้กลับมาทำงานและฟื้นฟูการผลิตแล้ว โดยผลิตล๊อตแรกตามใบสั่งซื้อคือ ซิปของชุดป้องกัน ๒.๑๕ ล้านชิ้น ซึ่งผู้รับผิดชอบของบริษัทแจ้งว่า พนักงานของบริษัทจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงได้ช่วยเหลือโดยการจัดบริการเช่าเหมารถรับส่งพนักงานไปยังเมืองเซินเจิ้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้โดยเร็วที่สุด

บทสรุป

 
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ เป็นต้นมา หน่วยงานและท้องที่ต่างๆ ของจีนได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ รวมทั้งการสนับสนุนวิสาหกิจทุนต่างชาติให้ฟื้นฟูการทำงานและการผลิต เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้เพิ่มความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาของวิสาหกิจเหล่านี้ ตลอดจนเพิ่มความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอีกด้วย ในขณะที่แรงดึงดูดของตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่จะไม่ลดน้อยลง เพราะมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในภาพรวม เช่น การบริการทรัพยากรบุคคล และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าความมั่นใจต่อการลงทุนในจีนระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติจะไม่เปลี่ยนแปลง

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์