bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๓ ต.ค.๖๒ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยกับจีน ตอนที่ ๔ บันทึกความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถาบันวิชาการประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กับมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ได้มีหนังสือเรียนเชิญผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศพร้อมกับคณะจำนวน ๘ นาย เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๘ มี.ค.๕๓ และจัดให้มีพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ฯ ในวันอังคารที่ ๒๓ มี.ค.๕๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ อาคารกองบัญชาการ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง

๒. วัตถุประสงค์ในการเดินทางของคณะในครั้งนั้น นอกจากการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพิธีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ฯ แล้ว ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการขยายผลความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม สำหรับเนื้อหาสาระของบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทยกับมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ประกอบด้วย
        ๒.๑ วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้เข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในขอบเขตการศึกษาทางการทหารให้มากขึ้น
        ๒.๒ หลักการ
                ๒.๒.๑ บันทึกความร่วมมือนี้เป็นการติดต่อประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษาทางการทหารของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม
                ๒.๒.๒ การแลกเปลี่ยนจะดำเนินการไปบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการติดต่อกันโดยตรงในระยะยาว
        ๒.๓ ขอบเขตของความร่วมมือ จะมีการแลกเปลี่ยน ได้แก่
               ๒.๓.๑ การประชุมระดับผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย โดยมีการประชุมร่วมกันในทุกสองปี
               ๒.๓.๒ การเยี่ยมเยือนระหว่างกันของคณะผู้แทนนายทหารนักเรียน
               ๒.๓.๓ การแลกเปลี่ยนผู้สอนและผู้บรรยาย โดยดำเนินการในทุกสองปี
               ๒.๓.๔ การประชุมวิจัยและสัมมนา
               ๒.๓.๕ การแลกเปลี่ยนสิ่งตีพิมพ์และข้อมูลข่าวสาร
         ๒.๔ งบประมาณ
               ๒.๔.๑ ฝ่ายเจ้าภาพจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการประชุมระดับผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนผู้สอนผู้บรรยาย รวมถึงการประชุมวิจัยและสัมมนาทั้งสิ้น ยกเว้นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศ
               ๒.๔.๒ แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับคณะผู้แทนนายทหารนักเรียนของตนเอง โดยฝ่ายที่เป็นเจ้าภาพจะพยายามดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายของอีกฝ่ายหนึ่งให้ประหยัดมากที่สุด
         ๒.๕ ลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา การเผยแพร่ผลการวิจัยร่วมกันหรือผลงานวิชาการของทั้งสองฝ่ายในรูปแบบอันเกิดจากการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจของแต่ละฝ่ายให้ความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันเสมอก่อนการจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยในกรณีที่จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยให้เป็นลิขสิทธิ์ของฝ่ายไทย และกรณีที่จัดพิมพ์เป็นภาษาจีนให้เป็นลิขสิทธิ์ของฝ่ายจีน หากจัดพิมพ์นอกเหนือจากภาษาไทยและภาษาจีนให้ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันในเรื่องลิขสิทธิ์โดยได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจของแต่ละฝ่าย
        ๒.๖ การติดต่อประสานงาน ทั้งสองฝ่ายจะใช้ช่องทางการทูตโดยผ่านผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร
        ๒.๗ ระยะเวลาบังคับใช้และการสิ้นสุด บันทึกความร่วมมือนี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่มีการ ลงนามและมีผลต่อกันโดยตลอด ยกเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะยกเลิกด้วยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 30 วันก่อนสิ้นสุด แต่ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะยุติบันทึกความตกลงได้ทุกเวลาหากมีความตกลงใจร่วมกัน

บทสรุป
ในท้ายบันทึกความร่วมมือ ฯ ดังกล่าว มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนขอประกาศต่อท้ายบันทึกเป็นหมายเหตุเกี่ยวกับการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลชั้นความลับ กล่าวคือ (๑) ทั้งสองฝ่ายจะเก็บรักษาข้อมูลชั้นความลับ อันเกิดจากการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือนี้ โดยแต่ละฝ่ายไม่ควรเปิดเผยข้อมูลชั้นความลับที่รับมาจากอีกฝ่ายต่อฝ่ายที่สามโดยมิได้รับความยินยอมที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากอีกฝ่ายหนึ่ง และ (๒) แต่ละฝ่ายความจำกัดขอบเขตการอ้างอิงไปยังข้อมูลชั้นความลับที่รับมาจาก อีกฝ่ายหนึ่งให้สอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของฝ่ายนั้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
(๑) ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร” โดย ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พันเอก (ยศในขณะนั้น)
(๒) หนังสือเรื่อง “ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับจีน” โดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๕๗