bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๔ ก.ค.๖๑ : ความสำคัญของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่อความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนและผลประโยชน์ของประเทศไทย

ความสำคัญของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่อความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนและผลประโยชน์ของประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อคิดจากสุนทรพจน์ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุม Belt and Road Summit ครั้งที่ ๓ ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระหว่างเดินทางเพื่อชักจูงการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจีน เมื่อวันที่ ๒๖-๓๐ มิ.ย.๖๑
        ๑.๑ ฮ่องกงเป็นหัวใจสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เอเชียเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก และเป็นหัวหอกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือทางการค้าการลงทุนเคียงคู่ขนานกับการเชื่อมโยงเส้นทางยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) กับพันธมิตรในภูมิภาคอื่นของโลก โดยฮ่องกงนั้นเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ ณ วันนี้เสือตัวนี้ได้รับการติดปีกให้เป็นเสือทรงพลังที่บินได้ และปีกนั้น คือบทบาทที่ได้รับการคาดหวังและมอบหมายจาก BRI ที่ลือลั่นของจีน เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้อีกแล้วว่า ศตวรรษแห่งเอเชีย หรือ Asia Century ได้กลายเป็นจริงแล้ว รวมทั้งการขยับเพื่อปรับตัวของความร่วมมือใหม่ของกลุ่มประเทศในโลก ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง อาทิ การก่อตัวของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ระหว่าง ๑๐ ประเทศอาเซียนกับ ๖ ประเทศคู่เจรจา ที่มีจีนเป็นหัวหอกภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งพาดผ่านกลุ่มประเทศระหว่าง ๒ คาบสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
        ๑.๒ ความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของ BRI ที่ขับเคลื่อนโดยจีน และคำประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุม Boao Forum ได้สนับสนุนและจรรโลงแนวคิดการค้าเสรี ในขณะที่เส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์หลายเส้นทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โครงการรถไฟเชื่อมจีนสู่ยุโรปไปได้ดี เส้นทางรถไฟ Transconti-nental Rail เชื่อมโยงจีนผ่านมองโกเลียกำลังถูกขับเคลื่อนพร้อมกับโครงการสร้างท่าเรือตามเส้นทางเลียบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนตอนใต้ผ่านลาวและไทยลงใต้สู่อาเซียนอยู่ในระหว่างก่อสร้างหรือในขั้นตอนที่กำลังวางแผนร่วมกัน เส้นทางสู่ลาวกำลังคืบหน้าไปมากในขณะที่โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ ๑ กำลังก่อสร้างและจะไปบรรจบกับลาวในไม่ช้า ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) สามารถขยายสมาชิกพันธมิตรไปได้ถึง ๘๖ ประเทศ
        ๑.๓ สำหรับประเทศไทย ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงกับ BRI มิใช่อยู่ที่ความร่วมมือการสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว แต่ไทยกำลังเร่งสร้างทางรถไฟรางคู่ คู่ขนานกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน จากระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สู่ลาวและเชื่อมไปถึงกัมพูชาในทิศตะวันออก และไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เมียนมา ในอนาคตจะเห็นการเชื่อมโยงทั้งการค้า การลงทุนและนักท่องเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนโดยรวม เชื่อมโยงครอบคลุมถึงเส้นทางถนนที่กำลังเร่งเชื่อมโยงผ่านเมียนมาและลาวสู่จีนตอนใต้ และผ่านเมียนมาสู่อินเดียและบังกลาเทศ
        ๑.๔ การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมอย่างไร้รอยต่อคือหัวใจสำคัญสูงสุดของ BRI โดยในอนาคต ความสำคัญที่มิได้ด้อยกว่าเลยคือการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ และกรณีของประเทศไทยนั้น Belt and Road ได้แสดงให้เห็นผลอย่างชัดเจนในการสร้างประโยชน์เศรษฐกิจร่วมกัน คณะนักลงทุนไม่ว่าจากแผ่นดินใหญ่ หรือจากฮ่องกงได้หลั่งไหลเข้ามาติดต่อ ประสานและลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ย่อมมิได้จำกัดอยู่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่จะขยายตัวครอบคลุมสู่ทั้งภูมิภาคเพราะความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และหากเส้นทางรถไฟและเส้นทางคมนาคม เสร็จสมบูรณ์ การเชื่อมโยงของทั้งคนและสินค้าจะทวีขึ้นอย่างมหาศาล การเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตที่จะนำไปสู่การค้า e-Commerce การขยายตัวของ logistic ที่จะตามมา
        ๑ ๕ ความสำเร็จของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำ ๕ ชาติแห่งลุ่มน้ำอิระวดี เจ้าพระยา และแม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๘ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศ Master Plan ระหว่างสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย (CLMVT) ไม่ใช่เพียงมีขนาดประชากรกว่า ๒๓๐ ล้านคน และจำนวนแรงงานมากกว่า ๑๓๐ ล้านคน เป็นทั้งตลาดและ supply chain ที่สำคัญในเอเชีย แต่ในห้วงเวลาที่ BRI กำลังเชื่อมโยงจีนลงใต้สู่อาเซียน ทำให้อาเซียนตอนบน หรือ ACMECS ได้กลายเป็นดินแดนที่อยู่ใจกลาง ที่สำคัญยิ่งทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นเมื่อ greater bay area เป็นภูมิภาคที่อยู่ติดกับ ACMECS โดยตรง เส้นทางรถไฟจากจีนที่จะลงสู่ใต้จะเป็นการเชื่อมโยงประชาชนและธุรกิจระหว่าง ๒ ภูมิภาคโดยตรง หากมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในระหว่าง ๒ อนุภูมิภาค ย่อมหมายถึงพลังร่วมที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น

๒. เมื่อวันที่ ๒๙-๓๐ มิ.ย.๖๑ ได้มีเวทีประชุมการออกแบบอุตสาหกรรมและนวัตกรรมจีน-อาเซียน นานาชาติ ที่จัดขึ้นที่เมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซี (กวางสี) จ้วง ของจีน โดย ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังของไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินยุทธศาสตร์"ไทยแลนด์ ๔.๐" โดยใช้เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ( EEC ) เป็นโครงการนำร่องของ"ไทยแลนด์ ๔.๐" ทั้งนี้ รัฐบาลไทยหวังว่า จะได้พัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน EEC เช่น การขนส่งทางอากาศ รถยนต์รูปแบบใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ วิทยาศาสตร์ทางการเกษตรและชีวภาพ หุ่นยนต์ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ วัสดุทางชีวภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและยกระดับของอุตสาหกรรมไทย

บทสรุป

ประเทศไทยซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีหน้า จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานโดยผ่าน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนา ทำให้จีนตอนใต้และอาเซียนตอนเหนือเชื่อมโยงประสานพลังกัน และจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเชื่อมโยงไปทั้งอาเซียนโดยรวมและระหว่างอนุภูมิภาคอื่นบนเส้นทางของ BRI พร้อมๆ กับการที่ฮ่องกงจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในการก่อตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการค้าฮ่องกง (ETO) ที่กรุงเทพฯ ต้นปีหน้าเช่นกัน ทั้งนี้ ด้วยบทบาทและศักยภาพของฮ่องกง และ Greater Bay Area ทั้งการเป็นฐานการผลิตที่ยิ่งใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งและ SMEs บริการทางการเงินระดับโลก ฮ่องกง มาเก๊า และกวางตุ้ง ในฐานะหัวหอกของ Pan Pearl River Delta (PPRD) ในฐานะมณฑลที่มีขนาด GDP ถึง ๑.๔ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงเหมาะสมกับบทบาทที่เป็น super connector ทั้งระหว่างรัฐต่อรัฐและเอกชนกับเอกชนของ BRI ในทุกเส้นทาง ดังนั้น ทุกภาคส่วนของไทยควรมีการเตรียมการในการประสานความร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "ไทยแลนด์ ๔.๐" โดยใช้เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเชื่อมโยงกับ BRI

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.prachachat.net/economy/news-182803

http://thai.cri.cn/247/2018/07/02/230s268586.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/07/123s267790.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/05/11/123s267034.htm