bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๘ พ.ค.๖๒ : ความเคลื่อนไหวในการเตรียมกำลังทางอากาศของจีน

ความเคลื่อนไหวในการเตรียมกำลังทางอากาศของจีน โดยการจัดหาเครื่องบินรบรุ่น Su-57 จากรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. แม้ว่า กองทัพอากาศจีนในปัจจุบันมีเครื่องบินรบรุ่นใหม่ รวมถึงมีขีดความสามารถในการพัฒนาเครื่องบินทหารรุ่นใหม่ของตัวเอง ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ ๕ อย่าง J-20 ตลอดจนมีเครื่องบินรบรัสเซียรุ่นล่าสุดอย่าง Su-35 อยู่ด้วยก็ตาม แต่อุตสาหกรรมอากาศยานของจีน ยังคงพึ่งพาเครื่องยนต์จากรัสเซียเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนยังไม่สามารถสร้างเครื่องยนต์ของตัวเองได้เต็มที่ ดังนั้น จึงเกิดกระแสข่าวการจัดหาเครื่องบินรบรุ่น Su-57 จากรัสเซีย ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นในงานแสดงการบินและอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชาติ LIMA 2019 ณ เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ มี.ค.๖๒ โดย วิกตอร์ คลาดอฟ (Viktor Kladov) ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือนานาชาติและนโยบายภูมิภาคของ Rostec กลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคงรัสเซีย ได้กล่าวว่า "เอกสารที่จำเป็นทั้งหมด" เพื่อสนับสนุนการอนุมัติการส่งออกของ Su-57 ได้ถูกยื่นส่งต่อรัฐบาลรัสเซียเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์มีการคาดหมายว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะอนุมัติให้ส่งออกเครื่องบินขับไล่ยุคที่ ๕ สุดล้ำรุ่น Su-57E ไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับรัสเซีย

๒. คุณลักษณะสำคัญของเครื่องบินรบรุ่น Su-57
        ๒.๑ มีความเร็วเหนือเสียงและรับบทบาทหน้าที่ได้หลายหลาก โดยมีความสามารถทั้งในการสู้รบตะลุมบอนทางอากาศ และในการนำฝูงบินเข้าโจมตีศัตรูไม่ว่าจะเป็นการเล่นงานพวกเป้าหมายทางภาคพื้นดินหรือเป้าหมายที่เป็นเรือในทะเล ถึงแม้จุดโฟกัสของเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์ stealth) หรือการโจมตีจากระยะไกลเกินสายตามองเห็น
        ๒.๒ มีขีดความสามารถฝนการหลบหลีกขีปนาวุธพิสัยไกลที่กำลังตรงเข้ามาอยู่แล้ว โดยอาศัยความแข็งแกร่งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทางการบิน (avionics) อันก้าวหน้า ประกอบกับความเป็นเลิศในเรื่องการควบคุม thrust vectoring control (TVC) ตลอดจนความสามารถในการหลบหลีกพลิกพลิ้วได้อย่างเหนือชั้น ณ เวลาที่เครื่องบินกำลังบินด้วยความเร็วสูงสุดที่ มัค ๒ (Mach 2 หรือ ความเร็ว ๒ เท่าของความเร็วเสียง) เพื่อเข้าสู้รบแบบพันตูกับข้าศึกในระยะประชิด โดยที่ในสถานการณ์เช่นนั้น เทคโนโลยีสเตลธ์กลายเป็นสิ่งที่ใช้การอะไรไม่ได้
        ๒.๓ การออกแบบอันโดดเด่นเฉพาะตัว เป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของ Su-57 ได้แก่ การเป็นรุ่นแรกซึ่งมีเรดาร์ที่มุ่งจับสัญญาณจากทางด้านข้าง (side-facing radar) เพิ่มเติมขึ้นมาจากเรดาร์ที่มุ่งจับสัญญาณจากด้านหน้า (front-facing radar) ตามแบบฉบับที่ใครๆ ก็มีกัน เมื่อผสมผสานกับระบบเรดาร์อื่นๆ และอุปกรณ์เซนเซอร์อินฟราเรดแล้ว Su-57 จะมีความสามารถในการตรวจจับเครื่องบินใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ของข้าศึกได้

บทสรุป

จีนให้ความสนใจที่จะจัดหาเครื่องบินรบรุ่น Su-57 หลังจากที่ได้รับมอบเครื่องบินรบรุ่น Su-35 จำนวน ๒๔ ลำไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงมีความลังเลต่อการใช้งบประมาณเพื่อจัดซื้อ Su-57 จากรัสเซีย หรือจะใช้งบประมาณดังกล่าวไปในการเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินขับไล่ของตัวเอง โดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่รุ่น J-20 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ที่จีนผลิตขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะมีผู้สังเกตการณ์ทางทหารของจีนบางคนให้ความเห็นว่า ควรจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา J-20 เองเป็นลำดับแรกก่อนก็ตาม เนื่องจากเห็นว่า อาจจะก่อให้เกิดประเด็นปัญหาทางด้านระบบอาวุธ และระบบการสั่งการบังคับบัญชา ตลอดจนระบบการควบคุมระหว่างเครื่องบินรบของจีนกับเครื่องบินรบของต่างชาติ ในขณะที่บรรดานักบินของจีนที่ได้ทดลองเทคโนโลยีของรัสเซียแล้ว ต่างก็มีความประทับใจ และถึงกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจีน ได้มีการพูดคุยกับรัในการที่จะทำให้กองทัพจีนได้เรียนรู้ถึงการใช้งาน และการบำรุงรักษาเครื่องบินรบเพิ่มมากขึ้นด้วย

ประมวลโดย : พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.globaltimes.cn/content/1144092.shtml 

https://th-th.facebook.com/1396180123964713/posts/d41d8cd9/3387917928124246/ 

https://aagth1.blogspot.com/2017/04/su-35s-10-mig-29.html 

https://aagth1.blogspot.com/2019/03/su-57.html 

https://mgronline.com/around/detail/9620000037963 

http://www.nationtv.tv/main/content/378707891/ 

https://nationalinterest.org/blog/buzz/stealth-allies-why-russia-could-sell-its-su-57-fighter-china-51212