bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๗ ม.ค.๖๓ ท่าทีความเคลื่อนไหวของจีนต่อการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกกับสหรัฐฯ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๑๗ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีความเคลื่อนไหวของจีนต่อการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกกับสหรัฐฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อช่วงเช้าวันที่ ๑๕ ม.ค.๖๓ ได้มีพิธีลงนามในสัญญาข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ระยะแรกที่ทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐฯ โดยนายหลิว เฮ่อ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะการเจรจาเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ร่วมกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามในข้อตกลง และกล่าวคำปราศรัย โดยนายหลิว เฮ่อ ได้เน้นว่า
     ๑.๑ ทั้งสองประเทศในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสำคัญในกิจการระหว่างประเทศโดยภาพรวม มีการพิจารณาความขัดแย้งอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และควบคุมความขัดแย้ง จนบรรลุข้อตกลงในระยะแรก อันส่งผลดีต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ ตลอดจนทั่วโลก
     ๑.๒ หลังจากลงนามข้อตกลงแล้ว จีนกับสหรัฐฯ จะต้องใช้ความพยายามร่วมกัน ปฏิบัติตามหลักการที่เสมอภาคและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเข้มงวด คำนึงถึงปัญหาสำคัญที่สนใจร่วมกัน พยายามทำตามข้อตกลงระยะแรกให้ดี ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นภารกิจเร่งด่วน และยังจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการค้าแบบทวิภาคีระหว่างสองฝ่ายอีกด้วย

๒. ข้อตกลงในระยะแรกดังกล่าวนั้นมี ๙ มาตรา ซึ่งได้ครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การซื้อขายเทคโนโลยี อาหารและผลิตผลเกษตร การบริการทางการเงิน อัตราแลกเปลี่ยเงินและความโปร่งใส การขยายปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศ การประเมินค่าระหว่างสองประเทศ และการแก้ไขความขัดแย้งกัน เป็นต้น โดยจีนยังคงรักษาจุดยืนที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การยกเลิกภาษีศุลกากรที่เพิ่มเก็บทั้งปวง (๒) ปริมาณการซื้อขายที่สมเหตุสมผล และ (๓) การแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาข้อตกลงให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการยืนหยัดใน ๒ หลักการ ได้แก่ การยืนหยัดในกฎกติกาขององค์การการค้าโลก และการยืนหยัดในหลักการตลาด ในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเน้นเอกลักษณ์สำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ความสมดุลกับความเสมอภาค รวมทั้งการอำนวยผลประโยชน์แก่กันและการได้รับผลประโยชน์ด้วยกัน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินค่าและการแก้ไขความขัดแย้งนั้น ในข้อตกลงได้ระบุว่า ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่าฝืนกับข้อตกลง จะต้องได้รับการลงโทษตามที่กำหนดไว้

๓. สิ่งที่จีนจะต้องดำเนินการตามข้อตกลง
     ๓.๑ จีนจะต้องพิจารณาหาขั้นตอนต่างๆ สำหรับดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการจัดการกับเว็บไซต์ต่างๆ ที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องระงับใบอนุญาตเว็บไซต์ทางพาณิชย์ต่างๆ ในกรณีที่ล้มเหลวซ้ำๆ ในการสกัดการประกาศขายสินค้าสินค้าปลอมหรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์
     ๓.๒ จีนจำเป็นต้องเพิ่มการซื้อผลิตภัณฑ์ภาคการผลิต, พลังงาน, การเกษตรและภาคบริการของสหรัฐฯ รวมกัน ๒๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้า โดยในจำนวนดังกล่าวคาดหมายว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าเกษตร ๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา จีนไม่เคยซื้อสินค้าด้านการเกษตรของสหรัฐฯ เกินกว่า ๒๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ต่อปีเลย

๔. สิ่งที่จีนจะได้รับจากการดำเนินการตามข้อตกลง ได้แก่ การที่สหรัฐฯ ยกเลิกแแผนกำหนดมาตรการรีดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีก ๑๖๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับลดเพดานภาษีลงครึ่งหนึ่งเหลือ ๗.๕% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนที่อยู่ภายใต้มาตรการรีดภาษีในปัจจุบันมูลค่า ๑๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บทสรุป
 
การลงนามในสัญญาข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ระยะแรกเมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค.๖๓ นี้ ถือได้ว่าสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ได้เริ่มทำสงคราการค้ากันมาตั้งแต่ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โดยต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของอีกฝ่าย ทำให้มูลค่าภาษีนำเข้าพุ่งสูงกว่า ๔.๕ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวล โดยจีนได้แสดงท่าทียอมรับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ดีขึ้นอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน ได้หารือกันต่อในข้อตกลงระยะที่ ๒ โดยเร็ว เนื่องจากยังมียังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกหลายประการโดยเฉพาะในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านภาษี

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์