bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๒ ก.พ.๖๒ : แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่ ๒)

แนวโน้มของการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ (ตอนที่ ๒) สืบเนื่องจากการที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ.๖๒ ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงทางทหารของสหรัฐฯ โดยหมายถึง พลเรือเอก ฟิลลิป เอส เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกสหรัฐฯ ที่หยิบยกข้ออ้างของสหรัฐฯ เพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ความสำคัญของทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลหลักของโลก ทั้งการลําเลียงสินค้าและพลังงานทางทะเล อีกทั้ง ยังมีความสําคัญต่อการเคลื่อนกําลังทางยุทธศาสตร์ของมหาอํานาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียของกองกําลังภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific Command) ที่ต้องใช้พื้นที่ทะเลในบริเวณนี้เพื่อเคลื่อนกําลังสนับสนุนการปฏิบัติการของกองกําลังสหรัฐฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งโดยตรงจากสหรัฐฯ และจากฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ล เกาะกวม และในญี่ปุ่น ในขณะที่จีนได้สร้างเกาะเทียมขึ้นหลายแห่งในบริเวณทะเลจีนใต้ อันนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ รวมทั้งสหรัฐฯ ที่เห็นว่าจะขัดขวางต่อเสรีภาพในการเดินเรือ และส่งผลกระทบต่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์

๒. จีนได้ประกาศเจตนารมณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของจีนต่อทิศทางความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย The State Council Information Office of the People’s Republic of China ได้ออกสมุดปกขาว เรื่อง “China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation” และเผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค.๖๐ โดยเน้นว่า
        ๒.๑ จีนเรียกร้องให้มีความร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน โดยเฉพาะการยึดถือแนวทางการปฏิบัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และหลักการพื้นฐานของกฎหมายทางทะเล ทั้งที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายใหม่ทางทะเล รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ (United Nations Convention on the Law of the Sea, 1982 : UNCLOS)
        ๒.๒ จีนจะยึดหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติห้าประการ ได้แก่ การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน การไม่รุกราน ซึ่งกันและกัน การธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคและมีผลประโยชน์ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
        ๒.๓ แม้ว่าจีนจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน ที่จีนจะต้องปกป้องดินแดนและน่านน้ำของจีนตลอดจนผลประโยชน์ของชาติ แต่จีนมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวโดยสันติ และยอมรับการเจรจาปรึกษาหารือ เพื่อนำมาซึ่งความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เช่น การร่วมมือกันดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.๒๐๐๒ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเป็นระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct – COC) อย่างเป็นทางการต่อไป

บทสรุป

ทะเลจีนใต้นอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน อีกทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนเป็นเส้นทางทะเลที่สำคัญในการดำเนินโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ที่จะทำให้จีนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมทางทะเลกับเส้นทางสายไหมทางบก ซึ่งครอบคลุมทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา อันจะทำให้จีนสามารถแผ่ขยายอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร รวมทั้งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของจีนที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ ต.ค.๖๐ ว่า “จีนจะฟื้นฟูสู่ความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรืองแห่งประชาชาติจีน ในกลางศตวรรษที่ ๒๑”

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/20190215/62e77b8d-d79c-df2f-d376-8517537ae3d4.html 

http://thai.cri.cn/20190116/2a97495b-91c9-c820-9a17-350a3bbfa936.html 

http://thai.cri.cn/20190115/75d930d4-f561-4efe-4c1a-cf0f1fb9a092.html

ข้อมูลจากเอกสาร

The State Council Information Office of the People’s Republic of China (2017) .China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd.