bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๘ ก.ย.๖๑ : มุมมองต่อบทบาทในการการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน

มุมมองต่อบทบาทในการการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนผ่านสมุดปกฟ้าและสมุดปกขาว ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๕ ก.ย.๖๑ ที่กรุงปักกิ่ง ได้มีการประกาศสมุดปกฟ้ารายงานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศของจีนช่วงปี ๒๐๑๗ - ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๐ - ๒๕๖๑) โดยมีเนื้อหาว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศของจีนมีการเติบโตมั่นคงดี โดยเฉพาะโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ก็ขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง และได้ช่วยผลักดันให้ผลประโยชน์ในต่างประเทศของจีนมีขยายตัวรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น พร้อมเสนอแนะว่าให้ใช้ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ สร้างระบบคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศของจีนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งนี้ ในรายงานของสมุดปกฟ้ายังระบุว่า ในปี ๒๐๑๗ นักลงทุนในจีนได้เพิ่มการลงทุนโดยตรงในวิสาหกิจที่ไม่ใช่ด้านการเงินจำนวน ๖,๒๓๖ แห่ง รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น ๑๒๐,๐๘๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศอย่างไร้เหตุผลและความเหมาะสมได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มิ.ย.๖๑ สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนประกาศรายงานสมุดปกขาวว่าด้วย "จีนกับองค์การการค้าโลก" เป็นครั้งแรก โดยระบุถึงตลอดระยะเวลา ๑๗ ปีที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO เป็นต้นมา ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ สนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีอย่างแน่วแน่ สร้างคุณูปการให้กับโลก ตลอดจนลงมือปฏิบัติเพื่อเปิดประเทศสู่ภายนอกกว้างขึ้นให้ได้ตามที่มุ่งมั่น กล่าวคือ
        ๒.๑ ในช่วง ๑๗ ปีหลังจากเข้าเป็นสมาชิก WTO เป็นต้นมา (จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในลำดับที่ ๑๔๖ เมื่อวันที่ ๑๑ ธ.ค.๔๔ ) โดยจีนให้ความสำคัญอย่างมากต่อคำมั่นสัญญา ๓ ประการที่ให้ไว้กับ WTO ได้แก่ การค้าสินค้า การบริการและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา มีการปรับปรุงระบบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นจำนวนมาก รวมทั้งได้จัดตั้งกลไกตรวจสอบเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกัน ได้ลดภาษีศุลกากรการนำเข้าให้น้อยลงอย่างมาก เปิดกว้างตลาดบริการ ทุ่มกำลังเสริมการคุ้มครองสิทธิทรัพยสินทางปัญญา
        ๒.๒ เมื่อปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) จีนเป็นประเทศส่งออกอันดับที่ ๗ และประเทศนำเข้าอันดับที่ ๘ ของโลก แต่ปัจจุบัน จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศส่งออกอันดับ ๑ และประเทศนำเข้าอันดับ ๒ ของโลก และยังเป็นประเทศใหญ่ด้านเศรษฐกิจอันดับ ๒ ของโลก ประเทศการค้าอันดับ ๑ ของโลก ประเทศดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากเป็นอันดับ ๑ รวมถึงเป็นประเทศที่ไปลงทุนในต่างประเทศมากเป็นอันดับ ๒ อีกด้วย โดยเฉพาะการที่จีนเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาเหมือนโจนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า อีกทั้งได้สร้างคุณูปการสำคัญต่อการฟื้นฟูและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมี ๑๓๐ ล้านคน การใช้จ่ายในต่างแดนสูงถึง ๑๑๕,๒๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ได้สร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศต่างๆ และเพิ่มโอกาสการมีงานทำ นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณูปการสำคัญในการลดจำนวนประชากรผู้ยากจนด้วย

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ ในรายงานสมุดปกขาว "จีนกับองค์การการค้าโลก" ได้นำเสนอจุดยืนจากมุมมองที่จีนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นก็คือ จีนคัดค้านลัทธิกีดกันและลัทธิเอกภาคนิยม สนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีอย่างแน่วแน่ โดยบทบาทของจีนในฐานะที่เป็นทั้งผู้เข้าร่วม ผู้พิทักษ์และผู้สร้างคุณูปการที่สำคัญของระบบการค้าพหุภาคี ดังนั้น จีนมิเพียงแต่ใช้นโยบายการเก็บภาษีศุลกากรที่เป็นศูนย์ต่อประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของ WTO เท่านั้น แต่ยังได้เสนอโครงการความริเริ่มริเริ่ม " หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" เป็นกลไกความร่วมมือพหุภาคี ที่รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีต่อชาวโลก โดยหวังว่าสมาชิก WTO ทั้งหลายจะร่วมได้รับประโยชน์และเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
        ๓.๒ แต่เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ย.๖๑ สำนักงานสารนิเทศของคณะรัฐมนตรีจีน ได้ออกประกาศสมุดปกขาวเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงของข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กับจุดยืนของจีน โดยชี้แจงจุดยืน ๘ ประการ ได้แก่ (๑) จีนยืนหยัดรักษาเกียรติและผลประโยชน์ของประเทศ (๒) จีนยืนหยัดผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ให้เป็นปกติ (๓) จีนยืนหยัดรักษาและผลักดันการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงระบบการค้าพหุภาคี (๔) จีนยืนหยัดคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (๕) จีนรักษาสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของวิสาหกิจต่างประเทศในจีน (๖) จีนยืนหยัดลงลึกการปฏิรูปและเปิดประเทศ (๗) จีนยืนหยัดส่งเสริมความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์ต่อกัน และมีชัยชนะร่วมกันกับประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ จีนยืนหยัดที่จะผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

บทสรุป

จากการที่จีนเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO มาโดยตลอด โดยเฉพาะในการเจรจาเกี่ยวกับ "ข้อตกลงการส่งเสริมความสะดวกทางการค้า" และ "ข้อตกลงข้อมูลทางเทคโนโลยี" จีนได้พยายามเข้าร่วมและแสดงบทบาทที่มีความสำคัญพร้อมไปกับกระบวนการการเปิดประเทศจีนให้กว้างขึ้น ซึ่งนอกจากที่ชาวโลกจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาของจีนมากขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ มุ่งรักษาและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO เพื่อสนับสนุนระบบกลไกการค้าพหุภาคีที่เปิดเผย โปร่งใส มีความหลากหลายและไม่มีการดูถูก โดยเล็งเห็นว่าจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนรูปแบบต่างๆ สร้าง ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษย์ ที่พึ่งพาอาศัยกันและได้รับประโยชน์สูงร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากระบบการค้าพหุภาคีที่ถือ WTO เป็นใจกลางนั้น เป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาการค้าและสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง โดยปัจจุบัน WTO มีสมาชิก ๑๖๔ ราย และมียอดการค้าครองสัดส่วน ๙๘% ของโลก แต่ก็กำลังเผชิญกับการท้าทายจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และลัทธิกีดกันทางการค้า ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มีสมาชิกหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ WTO จนนำไปสู่การปะทะทางการค้าขึ้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://english.gov.cn/archive/white_paper/2018/06/28/content_281476201898696.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/09/26/101s271600.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/28/232s268494.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/09/24/230s271495.htm