bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๙ มี.ค.๖๒ : กรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ชูข้อเสนอของจีน ๔ ประการ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการโลก

กรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ชูข้อเสนอของจีน ๔ ประการ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการโลก ขณะเข้าร่วมประชุมฟอรั่มการบริหารโลกจีน-ฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๖ มี.ค.๖๒ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๒ ขณะร่วมพิธีปิดฟอรั่มการประชุมว่าด้วยการบริหารจัดการทั่วโลกจีน-ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ชูข้อเสนอของจีน ๔ ประการ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการโลก ได้แก่
        ๑.๑ ทุกฝ่ายควรยืนหยัดความยุติธรรมและสมเหตุสมผล แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการบริหารโลก
        ๑.๒ ควรยืนหยัดการปรึกษาหารือร่วมกันและให้ความเข้าใจกัน ขจัดความไม่ไว้วางใจกัน
        ๑.๓ ควรยืนหยัดการช่วยเหลือและฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกัน แก้ไขความไม่สมดุลกันในเรื่องสันติภาพ
        ๑.๔ ควรยืนหยัดอำนวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แก้ไขปัญหาการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน

๒. ก่อนที่จะมีพิธีปิดฟอรั่มการประชุมว่าด้วยการจัดการบริหารทั่วโลกจีน-ฝรั่งเศส ดังกล่าว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (นายเอ็มมานูเอล มาครง) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (นางอังเกลา แมร์เคิล) และนายฌอง โคลด ยุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้มีการพบปะสี่ฝ่าย โดยร่วมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับลัทธิพหุภาคี และการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-ยุโรป ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นว่า จีนสนับสนุนองค์การการค้าโลก (WTO) ให้มีการปฏิรูปเพื่อพิทักษ์ระบบการค้าพหุภาคี ในขณะที่โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ก็ได้เพิ่มเนื้อหาต่อแนวคิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและลัทธิพหุภาคีให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจีนยินดีต้อนรับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมการสร้างสรรค์โครงการ BRI ซึ่งจีนและทวีปยุโรปควรร่วมมือกันขับเคลื่อนการเจรจาว่าด้วยความตกลงทางการค้าระหว่างจีน-ยุโรป ต่อไป

บทสรุป

ท่าทีของจีนและฝรั่งเศส ต่างมีความเห็นพ้องกันในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ของโลก ด้วยการยืนหยัดความเป็นพหุภาคีและการมีความรับผิดชอบ โดยจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจากการประกาศโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ที่มีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศกว่า ๑๕๐ แห่งได้เข้าร่วม ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นำเสนอแนวคิดการร่วมกันสร้างสรรค์แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมขณะเยือนประเทศคาซัคสถาน และนำเสนอการสร้างสรรค์เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ขณะเยือนอินโดนีเซีย ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปเพียง ๕ ปี แต่ในที่สุดแล้ว แนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการผลักดันให้กลายไปเป็นเวทีใหม่ในการแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการทั่วโลก จึงถือเป็นความสำเร็จของจีนในการดำเนินยุทธศาสตร์บนเวทีโลก

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.globaltimes.cn/content/1143564.shtml 

http://thai.cri.cn/20190327/2439d6a0-e140-390d-975d-97ded64e519b.html 

http://thai.cri.cn/20190327/e7c215a5-1a55-394c-fef7-1f05a44d331b.html 

http://thai.cri.cn/20190326/41cdd00c-1654-2a2e-9132-6057547e7b6b.html 

http://en.silkroad.news.cn/2019/0327/134885.shtml 

https://www.youtube.com/watch?v=Zn1bYpe_kUo