bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๘ พ.ค.๖๓ โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนได้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และพร้อมในการก้าวสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๘ พ.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนได้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และพร้อมในการก้าวสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๕ พ.ค.๖๓ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน ต่างส่งสาสน์แสดงความยินดีกับภารกิจการยิงส่งจรวดฉางเจิง หมายเลข ๕ ชุด B  (Chang Zheng 5B) ขึ้นสู่อวกาศของกองบัญชาการการบินอวกาศจีนด้วยความสำเร็จ โดยเมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น. ของวันที่ ๕ พ.ค.๖๓ “จรวดลองมาร์ช 5-B” (Long March 5B) หรือชื่อจีนว่า长征五号B (จรวดฉางเจิง หมายเลข ๕ ชุด B) ที่ผลิตเพื่อโครงการสถานีอวกาศ ซึ่งบรรทุกนักบินอวกาศของจีน พร้อมกับยานทดสอบอวกาศรุ่นใหม่และยานอวกาศสำหรับบรรทุกสินค้า ได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง (Wenchang Space Launch Center) มณฑลไห่หนาน และหลังจากนั้นประมาณ ๔๘๘ วินาที ตัวยานก็ได้แยกออกจากจรวดและเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดด้วยความสำเร็จ อันหมายถึงภารกิจการทดลองบินครั้งแรกนี้ ที่เป็นโครงการด้านการบินและอวกาศขั้นตอนที่ ๓ ของจีน ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์

๒. นายโจว เจี้ยนผิง (周建平Zhou Jianping) หัวหน้านักออกแบบประจำโครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีน กล่าวว่า จีนพร้อมสำหรับการเริ่มต้นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในสถานีอวกาศแห่งนี้แล้ว กล่าวคือ
     ๒.๑ สถานีอวกาศจีน ซึ่งมีน้ำหนัก ๖๐ ตัน ประกอบด้วยโมดูลอวกาศหลักหนึ่งชิ้นและห้องทดลองสองห้อง มีอายุการใช้งานตามการออกแบบ ๑๐ ปี ซึ่งสามารถยืดออกไปได้ด้วยการดูแลซ่อมแซมรองรับนักบินอวกาศประจำได้ ๓ คนและมากสุด ๖ คน ในช่วงที่ต้องมีการหมุนเวียนนักบินอวกาศเป็นเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ ในอนาคตสถานีอวกาศแห่งนี้ยังสามารถขยายตามความต้องการได้อีกด้วย
     ๒.๒ ขณะนี้ จีนได้กำหนดโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในสถานีอวกาศจีนชุดแรก ซึ่งรวมถึงดาราศาสตร์อวกาศ, ฟิสิกส์ของของเหลวในสภาวะแรงโน้มถ่วงน้อยและวิทยาศาสตร์การเผาไหม้, วิทยาศาสตร์ของชีวิตในอวกาศและเทคโนโลยีชีวภาพ, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ และโครงการอื่นๆ รวม ๙ โครงการจาก ๑๗ ประเทศ ใน ๕ ทวีป

๓. ข้อสังเกต ภารกิจที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการบรรทุกของจรวดลองมาร์ช ๕ ว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของจรวดที่ใช้งานอยู่ในโลกขณะนี้ โดยจรวดลองมาร์ช 5-B (Long March 5B) ได้ทดลองนำส่งยานอวกาศรุ่นใหม่ที่สามารถบรรทุกนักบินด้วยน้ำหนักเกือบ ๒๒ ตัน ขึ้นสู่อวกาศด้วยความสำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกที่จรวดของจีนและทวีปเอเชีย สามารถนำส่งยานอวกาศน้ำหนักกว่า ๒๐,๐๐๐ กิโลกรัมขึ้นสู่อวกาศ โดยจรวดลองมาร์ช 5-B จะใช้เพื่อส่งยานอวกาศขนาดใหญ่ในวงโคจรต่ำของโลกเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตจะดำเนินภารกิจที่สำคัญ เช่น การส่งห้องโดยสารของสถานีอวกาศ (การก่อสร้างสถานีอวกาศจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.๒๕๖๕) เป็นต้น

บทสรุป

คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะรัฐมนตรีจีน และคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน ได้แสดงความยินดีและชื่นชมต่อความสำเร็จของกองบัญชาการการบินอวกาศจีน รวมทั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทุกคน ในภารกิจยิงส่งจรวดฉางเจิง หมายเลข 5- B ขึ้นสู่อวกาศ โดยระบุว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการยิงส่งจรวดฉางเจิง 5- B ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจ พยายามแก้ไขปัญหา และเอาชนะความยากลำบากต่างๆ เช่น สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิค-๑๙ จนประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ นอกจากนี้ จีนยังได้แสดงถึงความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการบินอวกาศ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://www.xinhuanet.com/2020-05/05/c_1210604742.htm

http://www.xinhuanet.com/english/2020-05/06/c_139033009.htm

https://mil.news.sina.com.cn/jssd/2020-05-07/doc-iircuyvi1759139.shtml

http://www.chinanews.com/gn/2020/05-06/9176350.shtml 

http://thai.cri.cn/20200506/c1f4aff6-1a49-28b2-3052-52f75b176e50.html

http://thai.cri.cn/20200506/6ac5c96e-20ba-b270-852c-4751e753ac62.html

http://thai.cri.cn/20200506/50e67692-6499-eab3-9a5c-da4578b2ada7.html

https://buzzon.live/34651-china-explores-the-moon-and-mars/

https://www.space.com/china-long-march-5b-next-gen-space-capsule-launch-success.html

https://www.youtube.com/watch?v=zKC0t1kOl1M