bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๐ ก.ย.๖๒ ความเคลื่อนไหวในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศเยอรมนี จากการที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เดินทางเยือนจีนในระหว่างวันที่ ๖ - ๗ ก.ย.๖๒

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๖ ก.ย.๖๒ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้พบปะหารือกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่กรุงปักกิ่ง
        ๑.๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ย้ำถึงสัดส่วนการขยายความร่วมมือระหว่างจีน-เยอรมนีที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายยังต้องเคารพซึ่งกันและกัน มีการปรึกษาหารือร่วมกัน รวมทั้งต้องเคารพแนวทางการพัฒนาของกันและกัน และคำนึงถึงประโยชน์หลักของอีกฝ่าย เพื่อเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถเจรจากันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในการดำเนินความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กัน ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนและศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่นโยบายเอกภาคีและการกีดกันทางการค้าได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ดังนั้น จีนและเยอรมนีในฐานะที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ จะต้องกระชับการแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ ประสานและร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายดังกล่าวร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องรักษาวิสัยทัศน์และการเปิดกว้าง โดยส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นใหม่ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์พลังงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G เป็นต้น
        ๑.๒ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้กล่าวว่า การพูดคุยเจรจาและความร่วมมือระหว่างเยอรมนี-จีน ได้ดำเนินการในขอบเขตที่กว้างโดยจีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่งของเยอรมนี ในขณะที่ปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศกำลังพัฒนาไปสู่แนวทางที่ดี ซึ่งเยอรมนีรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายขยายการเปิดสู่ภายนอกของจีน โดยเยอรมนียินดีที่จะเพิ่มการลงทุนในจีนต่อไป และจะขยายขอบเขตความร่วมมือ รวมทั้งจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านบุคลากรและวัฒนธรรมกับจีน โดยนายกฯ เยอรมนียังกล่าวอีกว่า นโยบายเอกภาคีและการกีดกันทางการค้าได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเยอรมนีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายจึงต้องทุ่มเทกำลังในการแก้ไขข้อพิพาทและความขัดแย้งอย่างสมเหตุสมผล โดยผ่านการเจรจาและปรึกษาหารือกัน เยอรมนียินดีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและประสานงานกับจีนในกิจการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เยอรมนียังยินดีที่จะแสดงบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีน

๒. เมื่อวันที่ ๗ ก.ย.๖๒ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจและการค้าหลายฉบับกับจีน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างจีน-เยอรมนีให้กว้างยิ่งขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเติมพลังขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ทั้งนี้ จีนและเยอรมนีต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและประสบการณ์ความร่วมมือ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกอีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ยังจะช่วยให้การพัฒนาของโลกมีความมั่นคงมากขึ้นอีกด้วย

๓. ข้อสังเกตต่อกรณีการเดินทางเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในครั้งนี้
        ๓.๑ บรรดานักวิเคราะห์ได้มองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างจีน-เยอรมนี คือ ทั้งสองฝ่ายต้องมีแนวคิดที่เปิดกว้าง เกื้อกูลกัน และใช้ศักยภาพแห่งความร่วมมือให้เต็มที่ โดยที่นางอังเกลา แมร์เคิล เป็นนักการเมืองที่เข้าใจการพัฒนาของจีนอย่างแท้จริงและถูกต้อง ซึ่งในระหว่างการเยือนนั้น นางแมร์เคิลได้แสดงท่าทีเชิงบวกต่อจีน อันเป็นการเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่แก่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
        ๓.๒ บรรดานักวิชาการ เห็นว่า การที่เยอรมนีเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่ที่สุดของจีนในยุโรป รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้านับเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างจีน-เยอรมนี มาโดยตลอด โดยนายเจนส์ ฮิลด์บรันท์ หัวหน้าคณะผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมและการค้าเยอรมนี ประจำกรุงปักกิ่ง ระบุว่า นางแมร์เคิล ได้ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายของสมาชิกคณะผู้แทนนักธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงความสมดุลระหว่างขนาดของธุรกิจ โดยพยายามครอบคลุมแวดวงต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ในขณะที่นายชุย เจี้ยนหง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยยุโรป สถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศจีน มองว่า ความร่วมมือด้านการผลิตระหว่างจีนและเยอรมนี ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ในอนาคต ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายยังมีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่มากในการยกระดับธุรกิจให้สูงขึ้น

บทสรุป
มีข้อมูลเชิงสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติประเทศเยอรมนี โดยพบว่า ในครึ่งแรกของปีนี้ จีนยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี ซึ่งมีปริมาณการค้าถึง ๙๙,๐๐๐ ล้านยูโร และในจำนวนนี้ การส่งออกของบริษัทเยอรมนีไปยังประเทศจีนอยู่ที่ ๔๗,๐๐๐ ล้านยูโร ขณะที่การนำเข้าจากประเทศจีนมีจำนวน ๕๒,๐๐๐ ล้านยูโร ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เป็นต้นมา ที่จีนได้กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นผลพวงมาจากการดำเนินความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างจีนกับเยอรมนี โดยเฉพาะการเดินทางเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในครั้งนี้ มีนักธุรกิจเยอรมนีจำนวนมากติดตามมาด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เยอรมนีต้องการลงลึกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3026099/xi-jinping-promises-keep-opening-chinas-economy-he-welcomes

http://thai.cri.cn/20190907/7e40ad0c-7ec8-b7e8-5a5a-dc80f824c1e3.html

http://thai.cri.cn/20190906/98caa463-f3b5-f4a0-d5bc-a94815fb1ed4.html

http://thai.cri.cn/20190822/f64d448c-5756-a5d0-7c11-db546fbfe7fe.html

http://thai.cri.cn/20190908/79a0da54-a748-aab2-9eff-174ad873e276.html

http://www.xinhuanet.com/english/2019-09/06/c_138371065.htm