bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๕ พ.ค.๖๑ : ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียน

กรณีที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียน อันจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน  สูงขึ้นเป็น ๑๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ที่มีชาวจีนมาเที่ยวไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ๘.๘ ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีมากถึง ๑๐ ล้านคน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. จากนโยบายยุทธศาสตร์พัฒนาภาคตะวันตกของจีน ที่จะทำให้เกิดการกระจายความเจริญมาสู่ดินแดนตอนใน โดยรัฐบาลจีนมีแผนเร่งพัฒนาและสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางถนน ทางรถไฟ ฯลฯ รวมทั้งผลักดันให้มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป็นศูนย์กลางคมนาคมแบบครบวงจรในปี พ.ศ.๒๕๖๓ โดยมีนครเฉิงตูเป็นศูนย์กลางจุดเชื่อมโยงไปสู่เมืองในระดับภูมิภาค เพื่อเปิดช่องทางเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านทางตอนล่างสู่อาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดนต่อเนื่องลงมาสู่ไทยที่เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และไทยจะเป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มประเทศในอาเซียนอีกด้วย

๒. นครเฉิงตู กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เขตเศรษฐกิจสำคัญในแต่ละภูมิภาคของจีนและผ่านเอเชียกลางไปถึงยุโรป ดังนั้นหากมีการวางแนวทางการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระบบรางจากประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สู่นครเฉิงตู ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางภาคตะวันตกของจีนได้ ภายใต้กรอบโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI (Belt and Road Initiative ที่เดิมเรียกว่า One Belt, One Road หรือ OBOR) จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยในระยะยาว กล่าวคือ
       ๒.๑ เส้นทางจากท่าเรือมาบตาพุด/ท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-เชียงของ-นครคุนหมิง-นครเฉิงตู รวมมีระยะทางประมาณ ๓,๐๙๔ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ วัน ๑๗ ชม. ๓๐ นาที (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง หากรวมระยะเวลากระบวนการขนส่งสินค้าจะอยู่ที่ ๔-๕ วัน) ซึ่งเมื่อเทียบกับเส้นทางโลจิสติกส์ทางทะเลจากท่าเรือมาบตาพุด/ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือเมืองก่วงโจว (๕-๗ วัน) –นครเฉิงตู (ทางราง ๑-๒ วัน, ทางหลวง ๓-๔ วัน) ต้องใช้เวลานานถึง ๘-๑๑ วัน (รวมกระบวนการขนส่ง)
       ๒.๒ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-นครคุนหมิง-นครเฉิงตู หากเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางสมบูรณ์ทั้งระบบ จะทำให้มีระยะทางประมาณ ๒,๔๘๓ กิโลเมตร และจะทำให้การเดินทางจากประเทศไทยสู่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๓ ชม. ๓๔ นาที หรือประมาณครึ่งวัน (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง) ซึ่งเมื่อเทียบกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงของ-คุนหมิง-เฉิงตูในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔๑ ชม. ๓๐ นาที (ไม่รวมเวลาที่ต้องเสียไปในกระบวนการขนส่ง)
       ๒.๓ เส้นทางคมนาคมขนส่งระบบรางอีก ๔ เส้นทาง ได้แก่

               (๑) เส้นทางจาก กรุงเทพฯ-ด่านอาลาซานโข่ว (ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) มีระยะทางประมาณ ๖,๐๒๔ กิโลเมตร

               (๒) เส้นทางจาก สิงคโปร์-กรุงเทพฯ-กรุงเวียงจันทน์-นครเฉิงตู มีระยะทางประมาณ ๔,๔๒๙ กิโลเมตร

               (๓) เส้นทางจาก สิงคโปร์-ด่านอาลาซานโข่ว (ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) มีระยะทางประมาณ ๗,๙๗๐ กิโลเมตร

               (๔) เส้นทางจากกรุงเทพฯ-เมืองท่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีระยะทางประมาณ ๑๒,๐๗๗ กิโลเมตร

๓. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มีการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคเชื่อมโยงโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของจีน ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๒ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพุธที่ ๑๐ ม.ค.๖๑ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอทิศทางของความร่วมมือในอนาคต ได้แก่
       ๓.๑ ส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้มีความทันสมัย ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม มีความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ และลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างกัน
       ๓.๒ เป็นกลไกหลักสนับสนุนให้อนุภูมิภาคนี้ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งประเทศสมาชิกมีพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นภาคการเกษตร จึงต้องร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย
       ๓.๓ การเชื่อมโยงในภูมิภาคหรือ connectivity เป็นเครื่องมือสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยไม่ละเลยกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล
       ๓.๔ ไทยสนับสนุนการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง – ล้านช้าง และผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเชื่อมต่อเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของ BRI ทั้งกรอบทวิภาคีและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ทั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย (EEC) โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน
       ๓.๕ ไทยเห็นพ้องกับจีนที่เสนอให้ขยายสาขาความร่วมมือของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพร้อมของประเทศสมาชิกทุกประเทศ และจิตวิญญาณแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี โดยสาขาที่สามารถขยายความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้แก่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการศึกษา เป็นต้น

บทสรุป

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง โดยผ่านประเทศ CLMV สู่ประเทศจีนตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของจีน ซึ่งจีนกำลังผลักดันให้นครเฉิงตูเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่สำคัญของจีน เช่น นครคุนหมิง ฯลฯ และเชื่อมต่อกับเอเชียกลางสู่ยุโรป อันจะทำให้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) สามารถเชื่อมโยงกับBRI ของจีน ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ผ่านการค้าชายแดนสู่ประเทศจีนได้แล้ว ยังจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งสินค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศในทวีปยุโรปอีกด้วย

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://m.thansettakij.com/content/280387

http://m.thansettakij.com/content/249057

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/about-china/country/sichuan/transport.php