bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๑ ม.ค.๖๓ ข้อคิดจากการจัดการศึกษาของจีน

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๑ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดจากการจัดการศึกษาของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. มีกระแสกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่ผู้ปกครองในประเทศจีน ได้เรียกร้องให้มีการปรับลดภาระการบ้านของเด็กนักเรียนให้อยู่ในระดับสมเหตุสมผล และเปลี่ยนระบบประเมินผลการเรียนที่หลากหลาย ไม่อ้างอิงการสอบแต่เพียงอย่างเดียว ขณะที่กลุ่มครูอาจารย์ แนะนำพ่อแม่ว่า อย่ามุ่งเน้นการแข่งขัน โดยมีรายงานการสำรวจภาระการบ้านของเด็กนักเรียนดังกล่าว จัดทำโดย afanti100.com ผู้ให้บริการการศึกษาออนไลน์จีน โดยสรุปผลฯจากการสำรวจ กลุ่มนักเรียน ๔๔๖,๘๓๖ คน ในเขตมณฑลต่างๆ ได้แก่ ๕๖.๗ เปอร์เซ็นต์จากโรงเรียนประถมศึกษา ๓๘.๖ จากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ ๘.๗ เปอร์เซ็นต์จากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) พบว่า
      ๑.๑ นักเรียนประถมฯ และมัธยมต้น ใช้เวลาทำการบ้านน้อยลง เมิ่อเทียบกับปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) โดยกลุ่มนักเรียนประถมฯและมัธยมต้น ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยต่อวัน เท่ากับ ๒.๘๗-๒.๖๔ ชั่วโมง ส่วนนักเรียนมัธยมปลาย ใช้เวลา ๒.๙๔ ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม พบว่า เด็กจีนยังใช้เวลาทำการบ้าน มากกว่านักเรียนในประเทศอื่นๆ ถึงสองเท่าตัว
      ๑.๒ ในช่วงปลายปี ๒๐๑๗ กระทรวงศึกษาจีน จึงได้ออกมาตรฐาน เรียกร้องให้ครอบครัวและโรงเรียน จับมือกัน เพื่อสร้างหลักประกันว่า นักเรียนชั้นประถม จะได้นอน ๑๐ ชั่วโมง และนักเรียนมัธยมได้นอน ๙ ชั่วโมง โดยผลสำรวจยังระบุอีกว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์ของเด็กนักเรียน มีภาวะอารมณ์ในเชิงลบจากภาระการบ้าน ทั้งอารมณ์บูดเสีย และโกรธ

๒. การพิจารณากรณีตัวอย่างของการทำการบ้าน เพื่อทบทวนบทเรียนและเตรียมตัวเรียนรู้เพิ่มเติม ก็ได้ทำให้นักเรียนจีนที่ชื่อว่า “จวงอี้” ที่เคยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในนครหางโจว ประเทศจีน เมื่อ ๒ ปีที่ผ่าามา เรียนเก่ง จนสามารถสอบวิชา ฟิกสิกส์ เคมีและภูมิศาสตร์ได้ ๑๐๐ คะแนนเต็มทั้งสามวิชา และถูกเพื่อนๆ ตั้งฉายาให้ว่า “จวง ๓๐๐” และเพราะการเรียนเก่งของเขาจึงทำให้เขาได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ มากขึ้น จนรู้ว่าเขานั้นมี หนังสือ”ตำราอ้างอิงสำหรับคณิตศาสตร์ระดับมัธยม” หรือ “หนังสือเลข” สำหรับเตรียมสอบที่เขาเรียบเรียงขึ้นมาเอง โดยเน้นที่การฝึกทำโจทย์ต่างๆ รวบรวมมาในแบบที่เข้าใจง่ายมีระบบ มีความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เสริมให้ ตลอดจนเพิ่มเติมในส่วนที่หนังสือเรียนยังอธิบายไม่ชัด ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้มีการปรับปรุงจนกลายเป็นเวอร์ชั่นที่ ๒ แล้ว และเขาได้แจกให้เพื่อนๆ ม.๖ ใช้แล้วถึง ๔๐ คน

บทสรุป

ข้อคิดในการจัดการศึกษาของจีน ซึ่งมีนักวิจัยประจำสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้รวบรวมและประเมินไว้ว่า ระบบการประเมินผลการเรียนระบบเดียว ที่ใช้เพียงคะแนนและลำดับผลการสอบ ได้สร้างภาระการบ้านอันหนักอึ้งแก่เด็กๆ ดังนั้น รัฐบาลและสังคมต้องพยายามปรับปรุงระบบการประเมินผลที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ในหลายๆทาง มากกว่ามุ่งที่การสอบผ่านเพียงอย่างเดียว


ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://mgronline.com/china/detail/9610000005363 

https://www.posttoday.com/analysis/report/535650 

https://www.thairath.co.th/content/1163450  

https://teen.mthai.com/education/133490.html