bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๑ ส.ค.๖๑ : แนวคิดในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับประชากรและสภาวะการทำงานของคนในสังคมจีน

แนวคิดในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับประชากรและสภาวะการทำงานของคนในสังคมจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในระหว่างการประชุมสองสภาจีน เมื่อเดือน มี.ค.ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ เสนอให้ประกาศใช้นโยบาย "ลูก ๓ คน" หลังจากที่จีนเริ่มใช้นโยบายลูก ๒ คนเมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) โดยยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มาแล้วกว่า ๓๐ ปี ทำให้ครอบครัวจำนวนมากตื่นเต้นและวางแผนครอบครัวใหม่ แต่ครอบครัวส่วนมากยังลังเลอยู่ว่า จะมีลูกคนที่ ๒ หรือไม่ เพราะมีลูก ๒ คนหมายถึงจะต้องมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น ต้องมีรายได้มากขึ้น ดังนั้นการมีลูก ๓ คนย่อมจะมีแรงกดดันมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดว่า หลังการใช้นโยบายลูก ๒ คนแล้ว ประชากรของจีนจะมีการเติบโตแบบระเบิด

๒. จากข้อมูลของเว็บไซต์เทนเซ็นต์ที่ได้ทำการสำรวจ "ความปรารถนาอยากมีลูก ๒ คน" ของชาวจีนที่อยู่ในช่วงวัยที่พร้อมจะมีลูกได้ พบว่า
        ๒.๑ ครอบครัวส่วนใหญ่ตอบว่า ถ้าไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นจริง อยากมีลูก ๓ คน แต่ความจริงคือ มีประมาณ ๗๐% ไม่มีแผนจะมีลูกคนที่สองแล้ว ส่วนในกลุ่มผู้หญิงอายุ ๒๐ – ๓๙ ปี ส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกคนที่ ๒ และยิ่งไม่อยากมี ๓ อย่างแน่นอน โดยรวมแล้ว มีเพียง ๒๘% ที่มีแผนจะมีลูกคนที่ ๒ ในขณะที่ ๔๒% ตอบว่าไม่มีแผน และอีก ๓๐% อยู่ในช่วงตัดสินใจ สำหรับในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า ๑ ล้านหยวนหรือ ๕ ล้านบาทนั้น มีมากกว่า ๒๕% อยากมีลูกคนที่ ๓
        ๒.๒ สาเหตุที่ทำให้ชาวจีนไม่อยากมีลูก ๒ คนหรือ ๓ คนนั้น ได้แก่
                  ๒.๒.๑ ราคาบ้านแพงเกินไป สำหรับสามีภรรยาวัยหนุ่มสาว ถ้าอยากมีลูกในเมืองใหญ่ หรือเมืองระดับหนึ่ง เงื่อนไขเบื้องต้นคือต้องมีบ้านอยู่อาศัย แต่ค่าบ้านในเมืองใหญ่แพงเกินไป เงินเดือนกับค่าบ้านต่างกันหลายสิบเท่า จึงต้องอาศัยครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ซึ่งพ่อแม่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายออกเงินที่เก็บมาหลายสิบปีร่วมกัน จ่ายค่าบ้านงวดแรก และสองคนช่วยกันออกค่าผ่อนบ้านทุกเดือน ทำให้กลุ่มคนที่มีอายุ ๒๐ – ๓๙ ปี ต้องเผชิญกับแรงกดดันหนัก จนไม่กล้ามีลูก และบางคนซื้อบ้านของตนเองแล้วมีลูกคนแรก แต่ถ้าอยากมีลูก ๒ คน หรือ ๓ คน บ้านเดิมจะไม่พอใช้ จะต้องซื้อบ้านใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเพิ่มภาระหนักด้วย จึงไม่อยากมีลูกอีกแล้ว
                  ๒.๒.๒ ต้องจ่ายค่าการศึกษาสูงเกินไป ปัจจุบันในจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เด็กทุกคนนอกจากเข้าเรียนโรงเรียนปกติแล้ว ยังต้องเรียนพิเศษต่างๆ นานา หลังเลิกเรียน เช่นดนตรี เล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เปียโน ไวโอลิน หรือขลุ่ย ฝึกเขียนพู่กันจีน วาดภาพ เต้นรำ เช่นบัลเลต์ ลาติน หรือระบำพื้นบ้าน งิ้วปักกิ่ง กังฟู ว่ายน้ำ แบดมินตัน บาสเก็ตบอล สกี สเกตและเทกวนโด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังต้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และคณิตศาสตร์ด้วย แต่ละรายการจะต้องเสียเงินหลายพันถึงหมื่นต่อปี บางคนบอกว่า แม่เลี้ยงลูกคนเดียวยังลำบาก ถ้ามี ๒ คน หรือ ๓ คน คงจะไม่ไหวอย่างแน่นอน
๒.๒.๓ ไม่มีเวลาและกำลัง การทำงานมีแรงกดดันและการใช้ชีวิต เมื่อเลิกงานกลับบ้านแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจนไม่อยากไปไหน ไม่อยากทำอะไรแล้ว จะไม่มีเวลาและกำลังในการดูแลลูกและพาลูกไปเรียน ไปเที่ยว และบางทีก็มีอารมณ์ไม่ดีใส่ลูก นอกจากนั้น ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เช่นโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมและมัธยมชั้นดีไม่พอเพียง ทรัพยากรการศึกษาไม่สมดุล และขาดคนดูแล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งแล้ว หากกลายเป็นปัญหาสังคมจีนในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อถูกถามว่า อยากมีลูก ๓ คนหรือไม่ มักจะได้คำตอบว่า "ไม่อยากเด็ดขาด"

๓. เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานฉบับหนึ่งของสภาสังคมศาสตร์จีน ได้เสนอเกี่ยวกับสภาวะการทำงาน
        ๓.๑ โดยเสนอให้ทำงานวันละ ๙ ชั่วโมง และสัปดาห์ละ ๔ วัน (รวมแล้วทำงานสัปดาห์ละ ๓๖ ชั่วโมง) ซึ่งในรายงานยังเสนอให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ด้วย และระบุว่า ความบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดีงาม และในรายงานที่ประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ ๑๙ ก็ได้ระบุว่า ความขัดแย้งสำคัญของสังคมจีนแปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างความต้องการชีวิตดีงานที่นับวันเพิ่มมากขึ้นกับการพัฒนาที่ไม่สมดุลไม่เต็มที่ เช่น มีเวลาพักผ่อนไม่สมดุล ไม่มากพอ และกำหนดโดยตนเองไม่ได้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการพักผ่อนมีไม่เพียงพอ รวมทั้งการบริการยังมีช่องว่างระหว่างภูมิภาค ระหว่างเมืองกับชนบทอย่างมาก และความต้องการพักผ่อนของบุคคลบางกลุ่มไม่ได้รับความสนใจมากพอ เป็นต้น
        ๓.๒ โดยช่วงประมาณปี ๒๐๒๐ – ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๓ – ๒๕๖๘) เสนอให้ขยายเวลาวันหยุดตรุษจีนเป็น ๘ วัน และให้หยุดวันเทศกาลหยวนเซียวด้วยอีก ๑ วัน รวมทั้งให้พนักงานลาพักผ่อนประจำปีโดยไม่ต้องถูกหักเงินเดือน และทดลองให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ภาคตะวันออกของจีนใช้ระบบการทำงาน ๔ วัน ๓๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘) เป็นต้นไป ให้การทำงานในบางแวดวงอาชีพที่ภาคตะวันออกและภาคกลางของจีน เริ่มทดลองใช้ระบบการทำงาน ๔ วันหรือ ๓๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก่อน และตั้งแต่ปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เป็นต้นไป ให้ทั่วประเทศจีนใช้ระบบการทำงาน ๔ วัน ๓๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้เหมือนกันหมด

บทสรุป

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติจีนประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวปี ๒๐๑๖- ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) โดยระบุว่า ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ประชากรจีนจะเพิ่มเป็น ๑,๔๒๐ ล้านคน อัตราการเกิดเพิ่มจาก ๑.๕ – ๑.๖ ในปัจจุบันเป็น ๑.๘ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ต้องมีแผนรับมือกับการท้าทายจากปัญหาประชากรในอนาคต กรณีสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประชากรอย่างสมดุล และปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การลดแรงกดดันด้านบ้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาลและระยะเวลาในการทำงาน โดยเฉพาะข้อเสนอให้ทำงานสัปดาห์ละ ๔ วัน วันละ ๙ ชั่วโมง (รวมสัปดาห์ละ ๓๖ ชั่วโมง) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล , KU.40

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.businessinsider.com/china-demographic-time-bomb-one-child-limit-2018-8

http://thai.cri.cn/247/2018/08/14/102s269991.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/02/09/226s250761.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/02/09/226s250761.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/08/13/102s269963.htm

https://www.lifesitenews.com/news/china-backtracks-on-one-child-policy-in-face-of-massive-demographic-crisis

https://globalnews.ca/news/4389047/china-child-policy-aging-babies-population/