bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๘ ส.ค.๖๑ : การเตรียมการสร้างฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

การเตรียมการสร้างฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและประกอบหุ่นยนต์ระดับประเทศ ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้

๑. รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเป่าจี (Baoji) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลส่านซี (Shaanxi Province) บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้ขานรับแนวคิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Made in China 2025 ที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพการเป็นประเทศผู้ผลิตสู่มหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมการผลิตของโลกและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจผู้ผลิตชาวจีนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเป่าจีได้ประกาศ “แผนพัฒนาการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ๕ ปี (ปี ๒๐๑๖ - ๒๐๒๐ หรือ พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๓)” ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ฉบับแรกของเมือง กล่าวคือ
        ๑.๑ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
        ๑.๒ สนับสนุนสายการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในรูปแบบที่ยืดหยุ่นสามารถใช้งานได้หลากหลาย (Flexible Production Line)
        ๑.๓ เน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้

๒. แนวคิดของจีนในการประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Made in China 2025 เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) เพื่อผลักดันประเทศจากการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตไปเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการผลิตของโลกใน ๑๐ ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลจีนได้มุ่งความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม การประสานเทคโนโลยีเข้าในกระบวนการอุตสาหกรรม การเป็นฐานการผลิตที่ความแข็งแกร่ง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ของจีน รวมถึงการผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ๑๐ กลุ่มอุตสาหกรรม อันได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มเครื่องจักร NC และหุ่นยนต์ กลุ่มวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศ กลุ่มวิศวกรรมสมุทรศาสตร์และการต่อเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ กลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงาน กลุ่มอุปกรณ์พลังงาน กลุ่มการวิจัยและพัฒนาวัตถุหรือธาตุใหม่ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และยา และกลุ่มเครื่องจักรการเกษตร ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการด้านอุตสาหกรรม

๓. ข้อมูลจากสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics: IFR) ระบุว่า เมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ประเทศจีนเป็นประเทศที่นำหุ่นยนต์มาใช้เพื่ออุตสาหกรรมมากที่สุดในโลกถึง ๖๗,๐๐๐ ชุด โดยประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี มีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวมกันมากถึงร้อยละ ๗๕ ของปริมาณหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั้งโลก โดยในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ประเทศจีนมีปริมาณหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศมากถึง ๔๐๐,๐๐๐ ตัว และในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ประเทศจีนมีปริมาณหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากถึง ๑ ใน ๓ ของโลก ในขณะที่ปัจจุบันเมืองเป่าจีมีการลงทุนในโครงการหุ่นยนต์ผลิตอุปกรณ์เบรคอัจฉริยะมูลค่า ๓๕๐ ล้านหยวน (ราว ๑,๗๕๐ ล้านบาท ) ของ Shaanxi Weihe Tools การลงทุนในหุ่นยนต์ผลิตเบรครถยนต์ (Precision Reducer) ของบริษัท Qinchuan Machinery Group และการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะเขตเฉินชางที่มีวิสาหกิจเข้าไปลงทุนแล้ว ๑๓ ราย มูลค่าการลงทุนรวม ๑,๕๖๐ ล้านหยวน (ราว ๗,๘๐๐ ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขการลงทุนที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองเป่าจีคาดการณ์ว่า เมื่อการก่อสร้างฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมนี้เสร็จสิ้นจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ของเมืองเป่าจีแข็งแกร่ง มีทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างรายได้จากการผลิตไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ล้านหยวนต่อปี (ราว ๑๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี)

บทสรุป

การพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่พบว่าภาคธุรกิจของไทยใช้หุ่นยนต์มากติดอันดับ ๑๐ ของโลก เป็นรองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งโรงงานใช้หุ่นยนต์ทั้งกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานก่อสร้างใหม่ที่วางแผนสายการผลิตทุกขั้นตอนต่อเนื่อง โดยที่ความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ของไทยอยู่ที่หุ่นยนต์ ๔๕ ตัวต่อแรงงาน ๑ หมื่นคน ซึ่งยังต่่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีหุ่นยนต์ ๗๔ ตัวต่อแรงงาน ๑ หมื่นคน ทั้งนี้เนื่องจากทักษะแรงงานของไทยยังไม่เอื้อต่อการใช้หุ่นยนต์เท่าใดนัก ดังนั้น ผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานจึงยังไม่เห็นชัดในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ไม่หยุดนิ่ง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน ไม่เฉพาะแต่เพียงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคเกษตรกรรมและภาคบริการอีกด้วย จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องมีการเตรียมการในการแก้ไขปัญหากันต่อไปในอนาคตอันใกล้

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/business/tech/2017-07/12/content_30081639.htm

http://globthailand.com/china_0025/

https://thestandard.co/thai-robots-10th-world/

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643205

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=458&ID=15707

http://www.newtv.co.th/m/news/?id=20214