bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๓ ธ.ค.๖๒ ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างไทยกับจีน (ตอนที่ ๒) อันเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในระหว่างวันที่

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
        ๑.๑ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเห็นพ้องที่จะให้ความร่วมมือรถไฟจีน -ไทยเป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) รวมเร่งการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ เร่งการดำเนินการภายใต้โครงการรถไฟจีน - สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - ไทย และพิจารณาแนวทางความร่วมมือในกรอบระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาของภูมิภาค
        ๑.๒ ทั้งสองฝ่ายยืนยันความประสงค์ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการประสานงานและการอำนวยความสะดวกการนำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของการค้า โดยฝ่ายจีนยินดีต้อนรับฝ่ายไทยในฐานะประเทศเกียรติยศเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo: CIIE) ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒
        ๑.๓ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย โดยการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความเชื่อมต่อระหว่าง EEC กับ GBA ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงระหว่าง GBA กับ EEC และภูมิภาคในภาพรวมสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
        ๑.๔ ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือทางอุตสาหกรรมด้านกำลังการผลิตต่อไป และสร้างเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านการวางแผนและนโยบายทางอุตสาหกรรม โดยใช้รูปแบบที่ดำเนินการมาแล้วเป็นพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมไทย - จีน (ระยอง) โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทยในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์กับประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ยานยนต์พลังงานใหม่ ยานยนต์ประหยัดพลังงาน และยาง ฝ่ายไทยยินดีสนับสนุนให้บริษัทเอกชนจีนขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาความร่วมมือสามฝ่ายใน EEC และเห็นว่าแนวคิดความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นต้นแบบสำหรับความร่วมมือในพื้นที่อื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและนอกภูมิภาค
        ๑.๕ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน สนับสนุนการขยายการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน ส่งเสริมเครือข่ายสถาบันการเงินและการบริการทางการเงิน และสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือด้านการกำกับดูแลข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
        ๑.๖ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศที่ไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ที่จะกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยและการกำกับดูแลด้านการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว การคุ้มครองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และคุณภาพของการท่องเที่ยวรวมถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

๒. ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
        ๒.๑ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเป็นสาขาที่โดดเด่นภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาโครงการ เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเปิดศูนย์นวัตกรรม นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศแบบหลอมรวม ซอฟต์แวร์และบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรม ความมั่นคงทางไซเบอร์ การประมวลผลบนระบบคลาวด์ (cloud computing) และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (digital Silk Road) ร่วมกัน
        ๒.๒ ทั้งสองฝ่ายจะยังคงร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อไป เพื่อสังคม และเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier technology)

บทสรุป
ทั้งไทยและจีนได้ตระหนักความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ท่ามกลางผันผวนของเศรษฐกิจโลกผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของสองประเทศ รวมทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาคในภาพรวม

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6887/111791 
https://mgronline.com/politics/detail/9620000106135