bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๗ ม.ค.๖๓ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยใช้เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซี ในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี)

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๗ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยใช้เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซี ในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี)  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. รัฐบาลท้องถิ่นของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ได้ประกาศ “โนบายสนับสนุนให้เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซีของจีน พัฒนาอย่างมีคุณภาพ” โดยกำหนด ๓๐ มาตรการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ทั้งนี้ ในการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตปกครองตนเองกว่างซีนั้น จะมีการออกเงินชดเชย คิดเป็นสัดส่วน  ๕๐% - ๗๐% ของเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น แก่บริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างพรมแดนจีน-อาเซียน ภายใต้สถาบันการเงินข้ามชาติ บริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ และโลจิสติกส์ข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ๕๐๐ อันดับแรกของโลก ที่เปิดสาขาในเขตปกครองจนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) เพื่อดึงดูดบุคลากรระดับสูง นอกจากนี้ เขตสาธิตการค้าเสรีกว่างซียังส่งเสริมให้คนต่างชาติและนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทำงาน สำหรับชาวต่างชาติที่มีความสามารถพิเศษและนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณวุฒิผ่านเกณฑ์ได้รับใบอนุญาตทำงานและใบอนุญาตพำนัก จะได้รับความช่วยเหลือทางการศึกษา และการรักษาพยาบาล

๒. ในแผนระยะ ๕ ปี การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๐ – ๑๓ ระหว่างปี ค.ศ.๒๐๐๑ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๔๔ – ๒๕๖๓) มุ่งใช้ศักยภาพของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ซึ่งอยู่ระหว่างมณฑลยูนนานด่านหน้าในการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศ กล่าวคือ
     ๒.๑ ได้มีการกำหนดให้นครหนานหนิงซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ"ประตูสู่อาเซียน" โดยการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางบกให้เข้าถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ผ่านแนวคิดการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ” (Nanning-Bangkok Economic Corridor) รวมทั้งการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์” (Nanning-Singapore Economic Corridor)  
     ๒.๒ การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งต่อสินค้า (Transshipment Port System) และระบบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่เหล็กนำเข้า รวมทั้งถ่านหินตามท่าเรือริมทะเลในเมืองต่างๆ เพื่อเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ระหว่างเส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ด้วยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ในการพัฒนาบทบาทการเป็น "ข้อต่อ" ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในกรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI)

บทสรุป

เขตสาธิตการค้าเสรีจีนกว่างซี ถือเป็นเขตนำร่องการค้าเสรีแห่งแรกที่จีนตั้งขึ้นในเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) โดยตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นเขตการค้าเสรีที่นำร่องความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้วยมาตรฐานสูงและมีคุณภาพ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://english.scio.gov.cn/in-depth/2020-01/02/content_75570549.htm 

http://thai.cri.cn/20200104/9eba1ba3-b5fa-a223-8038-83448294a154.html 

http://www.bbrtv.com/2019/0719/486797.html

http://thai.cri.cn/20190718/ee7ff839-646d-307c-14bd-904d9712c9d5.html 

http://thai.cri.cn/20190715/2628e1b7-268f-b989-b2e2-2dee4dafefde.html 

http://thai.cri.cn/20180815/c0cda2d4-ca3c-4f37-9065-bbaf65e106f7.html 

http://thai.cri.cn/20190719/d01e3172-a04f-af84-b526-7316507cec38.html 

http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=603&ID=17835