bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑ ธ.ค.๖๒ ดัชนีความตื่นตัวในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) โดยเฉพาะการเปิดตัวงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G ของจีนอย่างเป็นทางการ

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย.๖๒ สถาบันวิจัยที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกาศดัชนีความตื่นตัวในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ซึ่งสหรัฐฯ เป็นอันดับที่หนึ่ง จีนเป็นอันดับที่ ๒ รองลงมาคืออังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยสถิติระบุว่า จีนอยู่ในอันดับแรกในด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นิเวศวิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และอยู่ในอันดับที่ ๒ ในวิทยาศาสตร์การเกษตร พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา วิทยาศาสตร์โลก ชีววิทยา ฟิสิกส์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ทางสังคมอื่นๆ

๒. สำหรับความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยเมื่อวันที่ ๓ พ.ย.๖๒ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป (NDRC) กระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education) กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งจีน (Chinese Academy of Sciences) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (NFSC) ได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยี 6G ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งที่ประชุมได้ประกาศการจัดตั้งคณะทำงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G แห่งชาติ ซึ่งเป็นการเปิดตัวงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G ของจีนอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการวิจัยเทคโนโลยี 6G อาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการอีก ๑๐ ปีก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต 6G จะเร็วกว่า 5G ถึง ๑๐๐ เท่า เกือบแตะระดับ 1 TB/นาที ซึ่งหมายความว่า การดาวน์โหลดภาพยนตร์หนึ่งเรื่องทำได้ใน ๑ วินาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ในการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับรวมถึงโดรนจะเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ โดยผู้ใช้บริการแทบจะไม่รู้สึกถึงการหน่วงเวลา

บทสรุป
แม้ว่าการวิจัย 6G ของจีนจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานด้านสาขาทางเทคนิคให้สอดคล้องกันกับระดับสากล และกว่าที่ 6G จะเข้าถึงบุคคลทั่วไปอย่างแท้จริง อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกประมาณ ๑๐ ปีก็ตาม แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า 6G จะสร้างเครือข่ายที่ตระหนักถึงการสื่อสารแบบบูรณาการทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล โดยมีอัตราการส่งข้อมูลเร็วกว่า 5G ถึง ๑๐๐ เท่า อันจะส่งผลดีในด้านการบริการส่วนบุคคลของผู้ใช้ อุตสาหกรรมด้าน Internet of Things ด้านรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ด้านโรงงานอัจฉริยะ และในสาขาอื่นๆ เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://global.chinadaily.com.cn/a/201911/06/WS5dc2d2e1a310cf3e35575d36.html

http://thai.cri.cn/20191126/1f225763-b226-719f-280d-873fcf322d56.html

http://thai.cri.cn/20191111/2725afe9-7a6f-7460-327a-a3c2a099744d.html

http://thai.cri.cn/20191108/3327c987-e3e1-6bd7-3f19-45124fddbb7d.html

http://thai.cri.cn/20190929/38c69f6c-dfd8-1234-b421-a84fd0e43bc4.html

http://www.xinhuanet.com/english/2019-11/03/c_138525725.htm

https://theeagleonline.com.ng/chinese-experts-set-foot-in-6g-research/