bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา (วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ก.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้พบปะกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๕ ก.ค.๖๕ ที่กรุงเทพฯ หลังจากได้สนทนากับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ

จีนศึกษา (วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ก.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้พบปะกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๕ ก.ค.๖๕ ที่กรุงเทพฯ หลังจากได้สนทนากับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

นายหวัง อี้ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๐ ปีของการก่อตั้งความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนและไทย ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-ไทยมีความก้าวหน้ามั่นคงและอนาคตที่กว้างไกล โดยในระหว่างการเยือน ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ในเชิงลึกและได้บรรลุฉันทามติใน ๔ ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างสองประเทศ รวมทั้งยึดถือเป็นเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ไทยในยุคใหม่ที่มีความหมายว่า “จีนและไทยเป็นญาติสนิทในครอบครัวเดียวกัน” (“中泰一家亲”) อันจะนำไปสู่อนาคตที่สดใสแห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มั่นคง เจริญรุ่งเรือง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ประการที่สอง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการเพื่อเปิดทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยโดยเร็ว และส่งเสริมการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม โดยจะเปิดตัวบริการรถไฟขนส่งสินค้าระบบห่วงโซ่ความเย็น รถไฟการท่องเที่ยว และรถไฟสายด่วนสำหรับการขนส่งทุเรียน พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมืออย่างรอบด้านตลอดเส้นทางรถไฟ เพื่อนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนทั้งสามประเทศ

ประการที่สาม ทั้งสองฝ่ายตกลงจะร่วมกันรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการฉ้อโกงผ่านทางโทรคมนาคมในทุกรูปแบบ รวมทั้งปกป้องความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองประเทศ

ประการที่สี่ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะร่วมกันผลักดันให้การประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยปลายปีนี้ให้บรรลุผลในเชิงบวก โดยจีนจะสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อประเทศไทยในการแสดงบทบาทเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งเน้นหารือในประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การพัฒนา และการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ตามแนวทางและวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ.๒๐๔๐ (APEC Putrajaya Vision 2040) ตลอดจนการขับเคลื่อนด้วยการอัดฉีดแรงผลักดันใหม่ๆ อันแข็งแกร่งสู่การพัฒนาของเอเปค

ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://cn.chinadiplomacy.org.cn/2022-07/06/content_78307292.shtml )