bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พ.ค.๖๑ : คำปราศรัยของเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในที่ประชุมรำลึกวันคล้ายวันเกิดของคาร์ล มาร์กซ์

ข้อคิดจากคำปราศรัยของเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ ๔ พ.ค.๖๑ ในที่ประชุมรำลึกวันคล้ายวันเกิด ๒๐๐ ปี (เมื่อปี ค.ศ.๑๘๑๘ หรือ พ.ศ.๒๓๖๑) ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีจีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมโดยเน้นว่า
        ๑.๑ ในยุคใหม่นี้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงต้องเรียนกับคาร์ล มาร์กซ์ ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยชูธงลัทธิมาร์กซ์ให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญา พลัง และทฤษฏีของลัทธิมาร์กซ์อย่างต่อเนื่อง ยืนหยัดและพัฒนาสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนในยุคใหม่อย่างมีความมุ่งมั่น มีความเชื่อมั่น และมีภูมิปัญญามากยิ่งขึ้น เพื่อให้สังคมมนุษยชาติอันสวยงามดังที่คาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดริช เองเงิลส์ (ภาษาเยอรมัน Frederick Engels) เป็นผู้ริเริ่มนั้นปรากฏเป็นจริงขึ้นในแผ่นดินจีน โดยเฉพาะในการ “พลิกฟื้นประชาชาติจีนให้กลับมาชีวิตชีวาอย่างยิ่งใหญ่” ต้องไม่หลงลืม “รากเหง้าสังคมนิยม” ดังนั้นสมาชิกพรรคฯ ทุกคนต้องกลับไปอ่านงานเขียนของคาร์ล มาร์กซ์ และทำความเข้าใจว่าทฤษฎีมาร์กซิสต์นั้นเป็น “แนวทางการดำเนินชีวิต” และ “การแสวงหาทางจิตวิญญาณ”
        ๑.๒ การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดมั่นในปรัชญาทางการเมืองของคาร์ล มาร์กซ์ นั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้องทุกประการ”และ “การเขียนปรัชญามาร์กซิสต์ลงบนผืนธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการส่งเสริมการปรับเอาวัฒนธรรมจีนเข้าไป และการพัฒนาปรัชญามาร์กซิสต์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาก็ถูกทางแล้วเช่นกัน” รวมถึงความพยายามฟื้นฟูปรัชญายุคแรกเริ่มของพรรคคอมมิวนิสต์ และย้ำว่าต้องมีความเชื่อมั่นในประวัติศาสตร์การปฏิวัติและระบบการเมืองของจีน

๒. ข้อสังเกต
        ๒.๑ ในช่วงต้นเดือน พ.ค.๖๑ สื่อทางการจีนได้นำเสนอเรื่องราวของคาร์ล มาร์กซ์ ตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อตอกย้ำว่าปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังทันสมัย สอดคล้องกับบริบทของจีนยุคใหม่ และวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทุนนิยมที่ก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างระหว่างคนรวยในเมืองกับคนยากจนในชนบท โดยที่ไม่มีลัทธิการเมืองใดที่จะมีอิทธิพลต่อมวลมนุษยชาติเท่ากับมาร์กซิสม์ ที่ยึดหลักการเพื่อมวลชน กล้าปฏิรูปถึงรากถึงโคน, พัฒนาคุณภาพชีวิต, สร้างความชอบธรรม เป็นธรรม และสร้างสัมพันธ์กับนานาชาติอย่างเท่าเทียม
        ๒.๒ ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๖๐) รัฐบาลจีนได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (นายสี จิ้นผิง) ได้ประกาศ "ความฝันจีน" (Chinese Dream) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๕๕ ในงานนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง ว่าความฝันของคนจีนในวันนี้คือการฟื้นฟูประชาชาติ และการหลุดพ้นจากความยากจน โดยที่มีประชาชนจีนเฉลี่ยปีละ ๑๔ ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน และรัฐบาลจีนยังให้คำมั่นว่า จะช่วยให้ประชากรที่เหลือ ก้าวพ้นจากความยากจนภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันเป็นวาระแห่งการครบรอบ ๑๐๐ ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (วันที่ ๑ ก.ค.๑๙๒๑ หรือ พ.ศ.๒๕๖๔) ซึ่งหากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ จีนยังมีประชากรที่อยู่ในฐานะยากจน มีรายได้ต่อหัว/ต่อปี ต่ำกว่า ๓๓๕ เหรียญสหรัฐ จำนวนถึง ๙๙ ล้านคน และได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ๖๖ ล้านคน เหลืออีกราว ๓๐ ล้านคน ที่ยังอยู่ในความยากจน
        ๒.๓ มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจีนพยายามดำเนินการ ปรับปรุงระบบและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยว ไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ประชากรอีกราว ๓๐ ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของจีนยังคงอยู่ในระดับสูง รายได้ระหว่างภูมิภาคชนบทกับเมือง คนจนกับคนรวย ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ

บทสรุป

หลักทฤษฎีสำคัญใน The Communist Manifesto แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อปี ค.ศ.๑๘๔๘ (พ.ศ.๒๓๙๑) ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น รวมทั้งผลงานด้านเศรษฐศาสตร์และปรัชญาว่าด้วยทุน (Das Kapital ซึ่งมี ๓ เล่มคือ เล่ม ๑ ปี ค.ศ.๑๘๖๗, เล่ม ๒ ปี ค.ศ.๑๘๘๕ และ เล่ม ๓ ปี ค.ศ.๑๘๙๔) ของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้รับการยอมรับโดยทั่วโลกว่าเป็นทฤษฎีที่ยังคงทรงพลังในการถกเถียงกับลัทธิการเมืองอื่น ๆ ในขณะที่มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้วิจารณ์ว่า ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีในการปฏิรูปเปิดประเทศของจีน มีแนวโน้มในทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ที่มีนายทุน คนร่ำรวยระดับพันล้านหลายร้อยคน และเศรษฐีเงินล้านจำนวนหลายล้านคน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นการผลักดันลัทธิมาร์กซิสม์ในยุคใหม่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://english.sina.com/china/s/2018-05-05/detail-ifzyqqir0725383.shtml

https://mgronline.com/china/detail/9610000049527

http://thai.cri.cn/247/2018/05/04/227s266853.htm

https://gbtimes.com/xi-jinping-speech-honours-karl-marxs-200th-birth-anniversary