bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ส.ค.๖๑ : นายหวัง หย่ง (Mr. Wang Yong) มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายหวัง หย่ง (Mr. Wang Yong) มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน (State Councilor) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เดินทางมาเพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation: JC) ครั้งที่ ๖ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค.๖๑ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
        ๑.๑ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่นายหวัง หย่ง ได้รับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐของจีนเป็นสมัยที่ ๒ พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และภริยา และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ที่ได้รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ ๒ เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนชาวจีนที่มีต่อรัฐบาลจีนในการบริหารประเทศ และมั่นใจว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-จีน จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน (JC) ครั้งที่ ๖ โดยมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ JC เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน ในส่วนของประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ “ประเทศไทย ๔.๐” ซึ่งสอดคล้องกับความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ซึ่งสามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ระหว่างกันได้ โดยเฉพาะโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญขณะนี้มีพัฒนาการไปมาก และเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนจากประเทศจีน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
        ๑.๒ นายหวัง หย่ง กล่าวย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดรอบด้านทุกระดับ และชื่นชมพัฒนาการของประเทศไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและก้าวหน้า รัฐบาลไทยยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว และริเริ่มโครงการเศรษฐกิจสำคัญๆ หลายโครงการ อาทิ โครงการ EEC ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ยังถือเป็นแบบอย่างความร่วมมือเพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

๒. ผลลัพธ์จากการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน (JC) ครั้งที่ ๖ โดยมีการลงนามในเอกสารความร่วมมือ (MOU) ๖ ฉบับ ได้แก่ (๑) การลงนามเอกสารผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจ ไทย-จีน ครั้งที่ ๖ (๒) การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรค ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับกระทรวงพาณิชย์ของจีน (๓) การลงนามในร่างพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับสำนักงานศุลกากรของจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและ ชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน (๔) การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (๕) การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับกระทรวงพาณิชย์ของจีน และ (๖) การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยกับสถาบันอวกาศแห่งชาติของจีน เรื่องความร่วมมือด้านอวกาศ เป็นต้น

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมกลไกคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน หรือ JC ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เน้นส่งเสริมนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีน และในเดือน พ.ย.๖๑ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ (China International Import Expo: CIIE) ซึ่งฝ่ายจีนได้เชิญชวนให้ภาครัฐและเอกชนไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสอันดีของสินค้าและบริการของไทยที่จะเข้าถึงตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคน และยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”หรือ BRI อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนระหว่างไทยกับจีน
        ๓.๒ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ จากการที่บริษัทจีนสนใจลงทุนในประเทศไทย เพราะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญในสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค.๖๑ ได้มีการสัมมนา Thailand-China Business Forum 2018 Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC โดยมีนักธุรกิจไทยรวมทั้งจีนได้เข้าพบปะร่วมสัมมนากัน ที่โรงแรมมาริออต กรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค.๖๑ คณะเอกชนจีน จำนวน ๓๒ บริษัท ที่ถูกจัดอยู่ในลำดับ ๕๐๐ บริษัทขนาดใหญ่ของโลก ได้ไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และท่าอากาศยานอู่ตะเภา

บทสรุป

อาจกล่าวได้ว่า การลงทุนจากจีนจะสร้างความเข้มแข็งและการรวมตัวของภูมิภาค ด้วยการวางระบบโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงระหว่างกัน ภายใต้กรอบนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่ทำให้กลุ่มประเทศในอาเซียนกลายเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงภูมิภาคสำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน และเป็น Gateway ประตูเชื่อมสู่ CLMV และอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยให้ EEC ของไทยมีความเชื่อมโยงกับ BRI ของจีน เพื่อทำให้นักลงทุนของจีนมีความสนใจที่จะมาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ EEC พัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้นั้น จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอีกด้วย

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://backoff.thansettakij.com/2018/08/24/308860

https://www.prachachat.net/politics/news-209707

http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/14892

https://www.ryt9.com/s/prg/2876713

http://www.jasmine.com/news_event/detail_inside/2/2/535344

https://www.prachachat.net/politics/news-208861