bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ต.ค.๖๒ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยกับจีน ตอนที่ ๘ จบ สรุปและข้อเสนอจากการร่วมกิจกรรม

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางทหารของจีนกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน ๔๓ คน จาก ๙ ประเทศ (เว้นประเทศมาเลเซีย) ซึ่งล้วนเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสำนักงานความร่วมมือด้านการทหารระหว่างประเทศ (OIMC) คณะกรรมาธิการทหารกลาง (CMC) กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เป็นเจ้าภาพ และหน่วยบัญชาการยุทธบริเวณตอนใต้ (STC) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

๒. เป้าหมายของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่อกองทัพจีนและยุทธศาสตร์ของจีน จะได้มีโอกาสพบปะสนทนาเพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน อันจะยังประโยชน์ต่อการติดต่อประสานงานกัน อย่างใกล้ชิดต่อไป

๓. สำหรับรูปแบบของกิจกรรม โดยการฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศรวมทั้งนโยบายด้านการป้องกันประเทศของจีน และเยี่ยมชมหน่วยงานทางทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน เช่น หน่วยบัญชาการยุทธบริเวณตอนใต้ ณ นครกว่างโจว และฝูงบิน J-11 ณ กองพลบินที่ ๔ ณ เมืองเซินเจิ้น เป็นต้น รวมทั้งเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองเซินเจิ้นที่จัดแสดงความสำเร็จของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจีน พระราชวังโบราณกู้กง และกำแพงเมืองจีนด่านจียง ณ เขตชางผิง กรุงปักกิ่ง และหน่วยงานภาคเอกชนของจีน เช่น บริษัท tencent ณ เมืองเซินเจิ้น ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมและฝ่ายจีน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้สึกต่อกิจกรรมพัฒนาความสัมพันธ์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรของจีน และ/หรือ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

บทสรุป
กิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคี (ไทยกับจีน) และการขยายขอบเขตความร่วมมือไปสู่กิจกรรมในกรอบพหุภาคีระหว่างจีนกับอาเซียน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างบุคลากรของกองทัพในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนกับจีน อันจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงแแบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนและจีนเพิ่มมากขึ้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
จากการบันทึกระหว่างการเดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในระหว่างวันที่ ๒๐ -๒๗ ต.ค.๖๒