bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มี.ค.๖๔ เบื้องหลังที่ลึกลับในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน – สหรัฐฯ (中美战略对话背后的重重玄机)

 
๑. ฝ่ายจีนประเมินท่าทีว่า สหรัฐฯ กำลังวิตกกังวลกับปัญหาอย่างน้อย ๔ ประการ ได้แก่ (๑) ความคืบหน้ากับอิหร่านได้หยุดชะงักและสิ่งที่เรียกว่าการกลับไปสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นอยู่ห่างไกลออกไป (๒)ความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียก็กำลังมีปัญหามากเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างแปลกแยกจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการที่ซาอุดิอาระเบียได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย (๓) ปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยปัญหานี้เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการรณรงค์ที่ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ สัญญาในขณะเข้ารับตำแหน่ง แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในปัจจุบันหากปราศจากความร่วมมือของจีน (๔) ปัญหาของพันธมิตรซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จีนเห็นว่า สหรัฐฯ ต้องการดึงพันธมิตรเพื่อปิดล้อมจีน โดยพาะการดึงกลุ่มพันธมิตรขนาดเล็กเพื่อต่อสู้กับจีน
 
๒. ฝ่ายจีนเห็นว่า สหรัฐฯ พยายามสร้างสถานะที่ได้เปรียบก่อนการเจรจา ได้แก่ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เรียกไต้หวันว่า "ประเทศ" โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ ในภายหลัง รวมถึงการที่คณะกรรมการการสื่อสารของสหรัฐฯ ได้ปล่อย "บัญชีดำ" (“黑名单”) ที่ระบุว่า บริษัทของจีน ๕ แห่ง (Huawei, ZTE, Hikvision, Dahua Technology และ Hytera) มีความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ต่อความมั่นคงแห่งชาติและความปลอดภัยของบุคลากรของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ไปเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้และมีแถลงการณ์ร่วม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เพื่อควบคุมยุทธศาสตร์ของจีน
 
๓. ท่าทีของฝ่ายจีนที่ได้ตอบโต้ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ
     ๓.๑ การตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อแถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น โดยจีนได้ใช้ภาษาที่รุนแรงต่อญี่ปุ่น ทำให้แถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯ - เกาหลีใต้ ได้เบาลงเมื่อเทียบกับแถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น โดยเฉพาะไม่มีการกล่าวถึงจีนในทางยั่วยุ  
     ๓.๒ การตอบโต้ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ประกาศว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน ๒๔ คนเกี่ยวกับปัญหาฮ่องกง โดยทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า "หากสหรัฐฯ ขาดความจริงใจ ก็จะแนะนำให้ฝ่ายจีนยกเลิกการประชุมนี้"
     ๓.๓ การตอบโต้ท่าทีของสหรัฐฯต่อกรณีพันธมิตรทางทหารโดยเฉพาะในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ว่า จะเป็นการบังคับให้จีนและรัสเซียจัดตั้งพันธมิตรทางทหารเพื่อเป็นเจ้าโลก และทั้งโลกจะถูกลากไปสู่ความสยองขวัญของสงครามโลกครั้งที่ ๓
 
บทสรุป

ความเคลื่อนไหวก่อนเจรจาและการตอบโต้ดังกล่าว จึงได้นำไปสู่การหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน – สหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนในช่วง ๒ วันที่กำหนด ส่วนความเคลื่อนไหวในระหว่างการเจรจาและผลสรุปจากการหารือจะนำเสนอต่อในวันพรุ่งนี้ครับ
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์